เรื่องที่ต้องรู้ก่อนให้พนักงานกู้ยืมเงิน

สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยเพราะในช่วงต้นเดือนที่เงินเดือนออก ภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ พากันตบเท้ามายืนเรียงแถวโดยไม่ได้นัดหมาย ทำให้เงินที่เพิ่งได้รับมาถูกจัดสรรปันส่วนแทบจะไม่เหลือ ยิ่งหากเป็นช่วงเปิดเทอมที่เป็นช่วงเทศกาลแห่งการจับจ่ายใช้สอยให้กับเจ้านายตัวน้อยไม่ว่าจะเป็น เสื้อ กางเกงชุดใหม่ มือถือรุ่นใหม่ และค่าเทอมอีกจิปาถะ อาการข้างต้นก็ดูจะหนักขึ้น

ที่พึ่งพิงทางใจแห่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับคนที่เป็นพนักงานคงหนีไม่พ้นการชอเบิกเงินเดือนล่วงหน้า สิ้นเดือนพอถึงเวลาจ่ายเงินเดือนค่อยไปหัก หรือบางคนโชคดีหน่อยที่สามารถกู้ยืมเงินจากบริษัทเพื่อนำมาใช้จ่าย และค่อยๆ ทยอยผ่อนใช้หนี้เวลาที่ได้รับโบนัส หรืออื่นๆ

แต่เรื่องราวของนายจ้างผู้ใจดีที่ให้พนักงานกู้ยืมเงิน เพื่อนำไปใช้จ่ายในครอบครัว หรือรายจ่ายฉุกเฉินต่างๆ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะให้ก็ให้ได้ พลาดพลั้งผิดไปโดยประเมินไม่รู้ตัวก็มีให้เห็นมากน้อย


พนักงานกู้ยืมเงินต้องคิดดอกเบี้ย

เพราะการให้กู้ยืมเงินนั้น มีประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องหลายตัว เช่น

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ
  • อากรแสตมป์

การให้พนักงานกู้ยืมเงินจึงต้องดูประเด็นเรื่องภาษีให้รอบคอบรอบด้าน ซึ่งการให้พนักงานกู้ยืมเงินมีประเด็นเรื่องดอกเบี้ยว่าจะคิดหรือไม่ก็ว่ากันไป อยากช่วยพนักงานจะไม่คิดดอกเบี้ยก็ว่ากันไป แต่ถ้าอยากให้พนักงานรู้คุณค่าของเงินไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจะคิดดอกเบี้ยอัตราพิเศษก็ว่ากันไป

ใครใคร่คิดก็คิด ใครไม่อยากคิดก็ไม่ต้องคิดเรื่องนี้คุณสรรพ์จะไม่ยุ่ง แต่ในมุมมองด้านภาษีขอเพียงอย่าลืมคิดดอกเบี้ยและนำไปรวมเป็นเงินได้ของบริษัทด้วยจะไม่ว่าจะไม่บ่นสักคำ

ให้พนักงานกู้ยืมเงิน คิดดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้

แต่ในการคำนวณภาษี

ต้องคิดดอกเบี้ยและนำมาเป็นรายได้ของผู้ให้กู้ยืม

เรื่องนี้คุณสรรพ์ยืนยัน และโดนประเมินกันมาทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว เพราะแม่ไม้ ม. 65 ทวิ (4) กำหนดว่า

(4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงิน

พนักงานกู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด

ม. 44 เอ๊ย ม. 65 ทวิ (4) กำหนดไว้ว่า ต้องคิดดอกเบี้ยตามราคาตลาด คงจะทำให้เกิดคำถามว่าราคาตลาดของดอกเบี้ยมันคือเท่าไหร่ จะใช้อัตราไหน ของธนาคารอะไร และต่อรองได้หรือไม่

ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ยากเพราะมีคนโดนประเมินมาเยอะ จนคุณสรรพ์ท่านกำหนดเป็นบรรทัดฐานให้เรียบร้อยสามารถนำไปใช้ประเมินตัวเองได้ก่อนโดนคุณสรรพ์ประเมินว่า     

หากบริษัทฯ นำเงินของกิจการไปให้กู้ยืมต้องคิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

หากบริษัทฯ กู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงิน หรือบุคคลภายนอกโดยต้องเสียดอกเบี้ย

ต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

ลองเหลียวมองงบการเงินของตัวเองดู หากพบว่ามีการกู้ยืมเงินจากบุคคลภายนอกโดยมีการคิดดอกเบี้ย เช่น 8% กรณีนี้การให้พนักงานกู้ยืมเงินก็ต้องคิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 8% เช่นเดียวกัน แต่หากบการเงินของเราใสปิ๊ง ไม่มีเงินกู้ยืมสักบาทแบบนี้ก็ให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยอัตราเงินฝากประจำก็ได้ ส่วนจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ก็ลองเช็คกับธนาคารดู

เรื่องราวข้างต้นเป็นกรณีการให้กู้ยืมเงินโดยทั่วไป แต่การให้พนักงานกู้ยืมเงินเป็นกรณีพิเศษที่แตกต่างไป เพราะเป็นเรื่องราวของความเป็นอยู่ของพนักงาน ทำให้คุณสรรพ์กำหนดว่า การให้พนักงานกู้ยืมเงินสามารถคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาดได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  1. ต้องมีระเบียบสวัสดิการเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน
  2. พนักงานทุกคนต้องมีสิทธิ์กู้ยืมเงิน
  3. กำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมเงินแตกต่างกันได้
  4. กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาดได้

หากทำได้แบบนี้ ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไหร่ กิจการจะมีเงินกู้ยืม และต้องชำระดอกเบี้ยหรือไม่ สามารถให้พนักงานกู้ยืมเงิน และคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราตลาดได้

ในกรณีที่บริษัทให้สวัสดิการแก่พนักงานของตนในลักษณะของการให้กู้ยืมเงินจากบริษัทได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด ถือได้ว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0811/16254 วันที่ : 28 พฤศจิกายน 2540)


พนักงานลาออกต้องคิดดอกเบี้ยอัตราตลาด

สวัสดิการเกี่ยวกับการให้พนักงานกู้ยืมเงิน เป็นเรื่องราวระหว่างบริษัทกับพนักงาน เมื่อพนักงานลาออกจากการเป็นพนักงาน หรือโอนย้ายไปทำงานบริษัทในกลุ่ม เท่ากับว่าเงินกู้ยืมดังกล่าวไม่ใช่เป็นการให้พนักงานกู้ยืมเงินอีกต่อไป ทำให้สิทธิในการคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดสิ้นสุดลง บริษัทมีทางเลือกสองทางคือ ให้พนักงานกู้ยืมต่อไปโดยคิดดอกเบี้ยตามอัตราตลาดปกติ หรือเรียกคืนเงินกู้ยืมพนักงาน

กรณีที่บริษัทให้สวัสดิการแก่พนักงานของตน ในลักษณะของการให้กู้ยืมเงินจากบริษัทได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด ต่อมาเมื่อพนักงานโอนย้ายไปยังบริษัทในเครือเดียวกัน หรือลาออกไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งไม่ใช่บริษัทในเครือเดียวกัน เป็นผลทำให้ความเป็นพนักงานของบริษัทได้สิ้นสุดลง หากบริษัทยังคงให้ลูกจ้างเดิมกู้ยืมเงินต่อไปอีกโดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมได้ (กค 0811/16254 วันที่ : 28 พฤศจิกายน 2540)

พนักงานกู้ยืมเงินกรณีฉุกเฉินไม่คิดดอกเบี้ยได้

หากเป็นการกู้ยืมเงินทั่วไปจะต้องคิดดอกเบี้ย ไม่คิดไม่ได้ แต่คิดต่ำกว่าอัตราตลาดได้ ยังไม่พอเพราะคุณสรรพ์มีเมตตากว่าที่คิดเพราะเห็นว่าหากพนักงานได้รับความเดือดร้อนสำหรับเรื่องที่ไม่คาดคิด ต้องได้รับการช่วยเหลือทางการเงินเป็นการเร่งด่วน การจะไปคิดดอกเบี้ยในกรณีนี้ แม้จะคิดต่ำเตี้ยติดดินมากน้อยแค่ไหนก็ดูจะเป็นการทำร้ายจิตใจเกินไป จึงกำหนดว่า

หากเป็นการกู้ยืมเงินกรณีฉุกเฉิน

ไม่คิดดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมได้

เช่น กรณีที่ประสบอัคคีภัย, ประสบภัยธรรมชาติ, การรักษาพยาบาลบิดา, มารดา, คู่สมร และบุตร เรื่องอื่นๆ ที่ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งให้การช่วยเหลือแบบนี้ ไม่คิดดอกเบี้ยได้

บริษัทฯ ได้จัดให้มีสวัสดิการเงินกู้ฉุกเฉินจำนวนตามสมควรแก่พนักงานผู้ได้รับความเดือดร้อนทางด้านการเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย ตามระเบียบของบริษัทที่ได้ประกาศที่ H R 021/2549 เรื่อง การขอรับสวัสดิการเงินกู้ฉุกเฉินบริษัท ก. จำกัด ถือได้ว่าเป็นการให้กู้เงินโดยไม่มีดอกเบี้ยโดยมีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรดังต่อไปนี้ การจัดงานศพของบิดา มารดา คู่สมรส และบุตร ที่ถูกต้องตามกฎหมาย การรักษาพยาบาลของบิดา มารดา คู่สมรส และบุตร กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การรักษาพยาบาลผู้ขอกู้กรณีที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล และค่ารักษานั้นเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในแผนประกันสุขภาพหมู่การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของพนักงานและครอบครัว บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร ในกรณีที่ประสบอัคคีภัยหรือประสบภัยธรรมชาติอื่น การศึกษาของพนักงานและบุตรของพนักงานด้วย (กค 0706/4260 วันที่ : 24 เมษายน 2550)


ให้พนักงานบริษัทในเครือกู้ยืมเงิน ต้องคิดดอกเบี้ยตามอัตราตลาด

เรื่องราวการกู้ยืมระหว่างบริษัทกับพนักงานเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบริษัท แม้บางบริษัทจะมีการลงทุนในบริษัทอื่นที่เรียกกันว่าบริษัทในเครือ หรือบริษัทลูก กรณีนี้แต่ละบริษัทสามารถกำหนดสวัสดิการเกี่ยวกับการให้กู้ยืมแก่พนักงานของตัวเองได้

แต่ประเภทว่าบริษัทลูกยังไม่มีกำไร ไม่มีความสามารถในการให้กู้ยืมเงินเลยจะขอพ่วงให้พนักงานของตัวเองมากู้ยืมเงินจากบริษัทแม่ แบบนี้ในทางปฏิบัติจะทำก็ทำไป แต่จะต้องคิดดอกเบี้ยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะพนักงานของบริษัทลูกไม่ใช่พนักงานของบริษัทแม่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ระเบียบสวัสดิการที่บริษัทแม่กำหนดไว้ไม่ครอบคลุมถึงพนักงานของบริษัทลูก ต้องคิดดอกเบี้ยตามอัตราตลาดนะจ้ะ อย่าพลาด โดนกันมาเยอะแล้ว

กรณีที่บริษัทแม่ให้พนักงานของบริษัทในเครือ กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด ถือเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร (กค 0811/16254 วันที่ : 28 พฤศจิกายน 2540)


ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ถือเป็นรายได้ของบริษัท

เมื่อให้พนักงานกู้ยืมเงินแล้ว สิ่งสำคัญลำดับถัดมาคือ ต้องนำดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินมาเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

แม้จะไม่คิดดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน แต่หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขระเบียบสวัสดิการพนักงาน หรือให้พนักงานในเครือกู้ยืมเงิน ก็ต้องคำนวณดอกเบี้ยตามอัตราตลาด และนำมาเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกัน


ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

การให้กู้ยืมเงิน ถือเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 โดยจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา.3.3% ของดอกเบี้ยก่อนหักรายจ่าย

หากบริษัทให้บุคคลภายนอกกู้ยืมเงินต้องคิดดอกเบี้ย นำดอกเบี้ยนั้นมารวมเป็นเงินได้ และภาษีธุรกิจเฉพาะครบชุด แต่การให้พนักงานกู้ยืมเงินเป็นไปเพื่อประโยชน์ สภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน เพื่อให้มีกำลังแรงใจในการทำงานเป็นประโยชน์ต่อกิจการโดยตรงไม่ได้มุ่งหวังเพื่อหาประโยชน์จากดอกเบี้ย คุณสรรพ์จึงได้กำหนดเงื่อนไขยกเว้นให้ว่าไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สุดยอดจริงๆ คุณสรรพ์ของเรา

กรณีบริษัทมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงาน หรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงานและบริษัทได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการโดยมีดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ให้กู้นั้นตามสมควร บริษัทไม่ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมารวมเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.6/2534 เรื่อง ดอกเบี้ยสำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 (กค 0811/16254 วันที่ : 28 พฤศจิกายน 2540)

ช่วยพนักงานได้ แต่เตรียมพร้อมให้ดีอย่าไปถูกประเมินภายหลังจะได้ไม่ต้องมาบอกว่า รู้งี้...ไม่ให้กู้สบายใจกว่ากันเยอะ เงื่อนไขก็ผ่อนปรน กฎ กติกา ก็กำหนดไว้ชัดเจน อ่านให้จบก่อนให้กู้สบายกว่ากันเยอะ ตอนนี้มือปราบของตัวไปทำเรื่องกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำก่อนนะคร้าบ

ด้วยรัก

มือปราบภาษี


ติดตามบทความ สาระความรู้ด้านบัญชี ภาษี การเงิน หลักสูตรอบรมที่หลากหลาย และ application ช่วยในการทำธุรกิจที่โดนใจ ใช้ประโยชน์ได้จริงที่

คอร์สอบรมออนไลน์ คลิ๊ก : http://www.bis-online.com
Facebook คลิ๊ก : https://www.facebook.com/msgconsultant/

NEED SOME BUSINESS SUGESSION?

WE CAN HELP YOU

เราภูมิใจเป็นอย่างมากหากท่านสามารถใช้ประโยชน์ หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้เพื่อนนักธุรกิจ นักบัญชี ภาษี และอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่...อย่างไรก็ตาม สำหรับการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดาที่ปรึกษาในการแวะเวียนมาบรรเลงใน msgconsultant.com ประกอบด้วย

We are very proud if you can take advantage or forward the information to the business tax accountants and others to apply and to take full advantage of them. However, knowledge that has been in favor of those that came into play.

Related Site :

บริษัท เอ็มเอสจี คอนซัลแทนท์ จำกัด

149, 151 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160
โทร. 02-803-6820, 02-803-6821, 02-803-6822
แฟกซ์ 02-903-0080 ต่อ 6823
Email : info@msgconsultant.com