เสือนอนกิน
Everyday may not be good
Something good in everyday
Passive Income เป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงมาหลายยุคหลายสมัย ว่ากันว่าหากใครมีรายได้ประเภทนี้มากๆ โอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างเกษียณสุขไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้เงินทองไหลมาเทมาทั้งกลางวัน กลางคืนสุขกันกระจาย
เบื้องหลังการมี Passive Income มันไม่ง่ายดายเหมือนที่เราได้ฟังกันมา เพราะสิ่งที่เป็นไม่ใช่สิ่งที่เห็นกว่าจะได้มา ซึ่งความสำเร็จมันต้องใช้ความเพียรพยายาม อดทน ใฝ่หาความรู้ พลังใจที่แข็งแกร่ง พร้อมจะลุกทุกครั้งที่ล้ม แม้เมื่อสำเร็จแล้วก็ยังต้องหาความรู้ เพื่อพัฒนาต่อยอดตลอดเวลา เพื่อให้เครื่องจักรสร้างรายได้ของเราสอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแแปลงไป
รายได้จากการให้เช่าไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานให้เช่า อาจจะถือได้ว่าเป็น Passive Income เครื่องจักรทำเงินรุ่นเก่า แต่ยืนยงคงกระพันมาจนถึงปัจจุบัน Baby Boomer ส่งต่อมายัง Gen X และเชื่อว่าจะถูกส่งต่อมายัง Gen Y / Gen Z และสืบต่อไปอีกหลายๆรุ่น แต่อาจจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามยุคสมัย
การทำธุรกิจให้เช่าสามารถทำได้ทั้งรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สะดวกแบบไหนก็เลือกแบบนั้น แต่หากใครมาบอกว่าทำแบบบุคคลดีกว่าหรือนิติบุคคลดีกว่า ต้องบอกว่าฟังได้แต่อย่าเชื่อทั้งหมด เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขข้อจำกัด ความพร้อมที่แตกต่างกัน จะเอาเสื้อคนอื่นมาใส่แล้วบอกว่าพอดีตัวคงไม่ใช่ เราคงต้องนำข้อมูลของแต่ละประเภทมาพิจารณาเปรียบเทียบและตัดสินใจเอง วันนี้ขอหยิบนำมาสรุปให้ฟังง่าย ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจก่อนลงมือว่า
รายได้จากการให้เช่าห้องพักรายเดือน
- ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้จ่ายเงินที่เป็นนิติบุคคลต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอัตรา 5%
รายได้จากการให้เช่าห้องพักรายวัน, Service Apartment, โรงแรม
- เป็นการให้บริการต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
- ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
รายได้จากการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์, ค่าบริการส่วนกลาง
- เป็นการให้บริการต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
- ผู้จ่ายเงินที่เป็นนิติบุคคลต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
อย่าเพิ่งงงกันนะครับ ว่าทำไมพูดเรื่องการให้เช่าห้องพักอยู่ดีๆ ไปเว้ากันเรื่องให้เช่าเฟอร์นิเจอร์และค่าบริการส่วนกลางได้อย่างไร ต้องบอกว่าอันนี้เป็นแม่ไม้หนึ่ง ในการวางแผนภาษียอดนิยมกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะในอดีตที่ยังเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตรา 12.5% หรือเท่ากับค่าเช่า 1.5 เดือน ทำให้บรรดาเสือนอนกินต้องหาทางลดน้ำหนักภาษีตัวนี้ด่วนๆ เลยเป็นที่มาของการแบ่งรายได้เป็น 2 ส่วนคือ รายได้จากการให้เช่าห้องพักกับค่าเฟอร์นิเจอร์หรือบริการส่วนกลาง แต่อย่างว่ายุคสมัยเปลี่ยนภาษีก็เปลี่ยน พอภาษีโรงเรือนต้องหลีกทางให้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การวางแผนในรูปแบบนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไป
นอกเหนือจากการวางแผนภาษีในรูปแบบรายได้เป็นค่าเช่าห้องพัก, เฟอร์นิเจอร์แล้ว การแจ้งรายได้ ค่าเช่าต่ำกว่าจริงก็เป็นอีกรูปแบบที่ชอบทำกันแต่สุดท้ายมักติดบ่วงภาษีดิ้นไม่หลุด มักจำนนต่อหลักฐานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา มารายงานตัวกันครบ คุณสรรพ์หยิบนำมาคำนวณย้อนกลับได้เลยว่าที่ผ่านมามีรายได้กี่ห้อง กี่เดือน จะเถียงก็เถียงยาก เพราะคุณสรรพ์แอบไปขอใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าของหน่วยงานที่ให้บริการมาครบ บางรายเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอันดับหนึ่งในจังหวัด แต่รายได้แทบธุลีดิน อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อว่าแจ้งรายได้ครบ อาวุธครบมือหลักฐานชัดเจนและหาง่ายขนาดนี้ หากหลายท่านคิดจะทำ ยังทำอยู่ และจะทำต่อไป ก็ขอให้คิดให้ละเอียดรอบคอบละกัน เพราะเวลาโดนประเมินมันเจ็บปวดไม่เบาเลย
การเสียภาษีมากหรือน้อยสำหรับธุรกิจให้เช่า ไม่ใช่ต้องเล่นซ่อนหาหลบรายได้ โดยการแจ้งรายได้ต่ำหรือแบ่งรายได้เป็นค่าเช่าห้องพักและเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว แต่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นทางโดยให้ความ สำคัญกับเรื่องรายจ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้างอาคาร, ระบบไฟฟ้า, ระบบประปา, เฟอร์นิเจอร์, ค่าจ้าง, ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้าฯลฯ โดยการรวบรวมหลักฐานการจ่ายเงินที่ถูกต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน เพื่อนำมาบันทึกบัญชีหักเป็นต้นทุน และรายจ่ายของกิจการโดยมีแนวทางดังนี้
รายจ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุน
อายุการใช้ประโยชน์เกิน 1 ปี
หักเป็นค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ
รายจ่ายเพื่อการดำเนินงาน
หักเป็นรายจ่ายในปีนั้น
หากวางแผนตั้งแต่เริ่มต้น รายจ่ายมารายงานตัวกันครบส่วนรายได้ทยอยมา อาจจะพบว่าเงินสดทยอยไหลเข้ากระเป๋าตามหลัก Passive Income แต่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สักบาท โดยไม่ต้องหลบๆ ไม่ต้องหนีภาษีก็ไม่ต้องจ่ายอย่างสบายใจ
นายภาษี
เกร็ดภาษีที่ต้องรู้ ! |
|
|
ธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ● รายได้จากการให้เช่า ไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ● ภาษีซื้อจากค่าก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่า ไม่สามารถขอคืน แต่นำมาหักเป็นรายจ่ายของกิจการได้
#เช่าอสังหาริมทรัพย์ #ห้องพักรายวันรายเดือน #ค่าบริการ #ภาษีเงินได้หักณที่จ่าย #ค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ #ภาษีโรงเรือนและที่ดิน #ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง |