หมอไม่มึน
"คนฉลาดไม่ใช่แค่ ฉลาดพูด
ต้องรู้จักนิ่งอย่างมีสติให้เป็น
ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูด
ให้มากกว่าสิ่งที่ควรพูด"
1 2 6 ไม่ใช่เลขเด็ดประจำงวดนี้ แต่เป็นเลข 3 ตัว ที่หมอต้องคอยแยกแยะทุกครั้ง เวลาทำงานเวลาออกตรวจคนไข้ เพื่อจะเก็บข้อมูลให้ดีว่า รับรายได้จากที่ไหนเป็นรายได้ประเภทไหน เวลาต้องก้มหน้ารายงานบัญชีก่อนเข้ารับตำแหน่ง แฮ่..รายงานรายได้เพื่อยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะได้ทำหน้าที่ได้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ต้องมาเป็นคุณหมอ เจ็บซมซานกลับมารักษาตัวเอง เพราะพิษบาดแผลทางภาษี
40 (1) เงินได้รับจากการเป็นลูกจ้าง
40 (2) เงินได้รับจากการรับทำงานให้
ตอนหมอทำงานประจำเช้าชามเย็นชามอันนี้ ไม่ใช่คุณหมอคนนี้แน่ อาจจะเป็นคนอื่น เพราะอย่างหมอเช้า 2 บ่ายอีก 2 ชาม เย็นถ้าต้องเข้าเวรก็ 3 ชาม ฟันธง!! คนทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่ใช่หมอคนนี้แน่นอนไม่ต้องสืบ หมอจะรู้ว่าตัวเองทำงานในฐานะลูกจ้าง ฝ่ายบุคคลเองเค้าหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งทุกเดือนปลายปีก็ออกเอกสาร 50 ทวิ มายืนยันว่าหมอเป็นลูกจ้าง ตัวจริง เสียงจริง
แต่ที่ทำหมอสับสน เสียภาษีถูกบ้าง ผิดบ้าง ก็คงเป็นตอนที่หมอออกไปตรวจนอกสถานที่ หรือไม่ก็ตรวจนอกเวลาการทำงานในฐานะลูกจ้าง หมอก็คิดว่าหมอเป็นหมอรักษาคนไข้ ด้วยความรู้ทางการแพทย์ แต่คุณสรรพ์ยืนถือเข็มฉีดยา และเขียนฉลากติดไว้ข้างขวดว่า หมอมีรายได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ผลของมันคือ ทำให้หมอต้องนำเงินได้ทั้ง 1 และ 2 มารวมกัน หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 50% แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งเฮ เพราะหักได้ครึ่งก็จริง แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ถ้าเกินก็หักค่าใช้จ่ายได้แค่ 100,000 บาทเท่านั้น ไม่ว่าหมอจะยืนตรวจนั่งตรวจ เอ๊ย..ยืนยันอย่างไรว่าหมอใช้ความรู้ด้านวิชาชีพแพทย์ตรวจคนไข้ เงินที่ได้รับ น่าจะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) แต่คุณสรรพ์ก็หารับฟังไม่
หมอเคยไปหาหมอเพื่อน เพื่อหารือได้คำตอบที่ไม่ค่อยตรงกัน บางคนบอกว่า ให้หมอคุยกับโรงพยาบาล หรือผู้ว่าจ้างขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไข เป็นว่า หมอตกลงทำสัญญากับโรงพยาบาล แบ่งหน้าที่กันให้โรงพบาบาลจัดหาสถานที่, หาอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจ หมอจะทำหน้าที่หมอ ในการเข้าไปตรวจรักษาคนไข้จ่ายยา ค่ารักษาพยาบาลได้มาเท่าไหร่ ก็มาจ่ายมาตามสัดส่วนที่ตกลงกัน แค่นี้ก็เป็นเงินได้มาตรา 40 (6) แล้ว แต่เพื่อนหมอบางคนบอกว่า ถ้าอยากเจ็บก็ทำเลย เพื่อนหมอโดนมาแล้ว คุณสรรพ์บอกว่าการทำแบบนี้ ในความเป็นจริง ก็เหมือนโรงพยาบาลจ้างหมอนั่นแหละ รายได้ของคุณหมอยังคงเป็นรายได้ตามมาตรา 40 (2) หาใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) ไม่ เพื่อนหมอหลายคน ที่เคยยื่นรายได้มาตรา 40 (6) หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาไป 30% ไม่มีเพดาน 100,000 บาท ทำให้หักรายจ่ายสูงไป เสียภาษีต่ำไป ต้องปวดตับช้ำเพราะพิษภาษี ควักจ่ายภาษีเบี้ยปรับเงินเพิ่มมาหลายคนแล้ว เพื่อนหมอบอกว่า ถ้าจะให้สบายใจเปิดคลินิกรับรักษาคนไข้ของตัวเอง แบบนี้วิชาชีพแพทย์ชัดเจน
ขอใช้สถานที่ใช้เครื่องมือเพื่อรักษาคนไข้
เปิดคลีนิคเพื่อรักษาคนไข้
เงินได้มาตรา 40 (6)
หยุดทุกความสับสนหยุดทุกปัญหาที่เกิด เพราะคุณสรรพ์คงจับยามสามตาแล้ว หากปล่อยไว้แบบนี้ อีกหน่อยคุณหมอจะขาดแคลนได้ เลยสรุปฟันธงให้ชัดเลยว่า ถ้าคุณหมอไปทำงานประจำ ในฐานะลูกจ้างแบบนี้เงินได้ 40 (1) เหมือนเดิมไม่ต้องสืบ หากไปทำงานนอกเวลาไม่ว่าจะที่โรงพยาบาล ที่ประจำหรือที่โรงพยาบาลอื่นเป็นเงินได้ 40 (2)
คุณสรรพ์ฟันธงให้ทราบ และนำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีอย่างเท่าเทียมกันว่า เงินได้มาตรา 40 (6) คือเงินได้ที่คุณหมอได้รับจากการเปิดคลินิก รักษาคนไข้เป็นการส่วนตัว หรือทำสัญญา หรือตกลงกับสถานพยาบาล เพื่อขอใช้สถานที่, เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อประกอบโรคศิลปะ ในนามของคุณหมอ เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วย ค่ารักษาพยาบาลคุณหมอ เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาเอง และมีข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย ให้แก่สถานพยาบาล หรือจะให้สถานพยาบาล เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนแพทย์ แล้วนำมาจ่ายให้กับแพทย์ก็ได้ ขอให้ทำข้อตกลงกัน เป็นลายลักษณ์อักษร แต่คุณหมอต้องนำรายได้ที่เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวน เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ใช่เฉพาะส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่ง ของสถานพยาบาล ได้ยินได้ฟังแบบนี้แล้ว คุณหมอทั้งหลายน่าจะหายมึนหายงง ตรวจรักษาคนไข้ ได้อย่างสบายใจแล้วนะครับ
|
รู้ก่อนลุย!!
มาตรา 81 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (1) การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออก หรือการให้บริการดังต่อไปนี้ (ฌ) การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่น ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพอิสระนั้น
|
#แพทย์ #หมอ #วิชาชีพอิสระ #คลีนิค #ภาษีมูลค่าเพิ่ม #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #หักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร #หักรายจ่ายเป็นการเหมา #ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม |