ชำระด้วย PN
"ความสำเร็จเกิดจากความยากลำบาก
ไม่มีความสำเร็จใดตกมาจากฟากฟ้า
ถ้าทำในสิ่งที่เคยทำจะได้ในสิ่งที่เคยได้
แต่ถ้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำจะได้ในสิ่งที่ยังไม่เคยได้"
มาเลยพี่ปราบวันนี้ผมจะมาเหลา เอ๊ย..เล่าเรื่องการวางแผนภาษีอันแยบยลของผม หลังฟังข่าวการวางแผนภาษีขายหุ้นของท่านอุ๊งมาเมื่อหลายวันก่อน เลยปิ๊งไอเดียไปบอกคุณพ่อคุณแม่ให้จัดการโอนที่ดินให้หนูและน้องให้เรียบร้อย หลังจากจดจ้องกันมานานหลายปี เพราะยังคิดหาทางรอดจากภาษีที่คุณสรรพ์ท่าน จัดเก็บจากการให้ไม่ได้ พอได้ท่านอุ๊งมาชี้ทางสว่าง เลยต้องขอสนองพระเดชพระคุณท่านซะหน่อย
ขายอสังหาริมทรัพย์ให้ลูก
ลูกออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้พ่อแม่
งานนี้หนูสมคบคิดกับน้องเรียบร้อย จะไปทำตั๋วสัญญาใช้เงิน แม้จะยังไม่แน่ใจว่าหน้าตาของตั๋วสัญญาใช้เงินจะเป็นอย่างไร จะแตกต่างจากตั๋วจำนำที่ผ่านมือหรือเปล่า แต่คิดว่าไม่น่าใช่เรื่องยาก เอาเป็นว่าเมื่อเตรียมเสร็จ จะนำไปส่งมอบให้ท่านพ่อท่านแม่ เพื่อแลกกับการโอนที่ดินทุกแปลงให้หนูกับน้อง งานนี้คุณสรรพ์ท่านก็การันตีมาแล้วว่าไม่ผิด คุณพ่อคุณแม่หนูก็ไม่มีรายได้ เพราะยังไม่ได้รับเงินค่าที่ดิน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเพราะบุคคลธรรมดา เสียภาษีตามเกณฑ์เงินสด เมื่อยังไม่ได้เงินก็ไม่ต้องเสีย ส่วนหนูกับน้องเมื่อไม่ได้รับที่ดินมาฟรีจากการให้โดยเสน่หา ก็ไม่เข้าเงื่อนไขต้องเสียภาษีจากการรับให้โดยสเน่หาเพราะหนูไม่ได้มาฟรี แต่นำตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีวันครบกำหนด ไปส่งมอบแลกเปลี่ยนกับที่ดิน สุดยอดไปเลยมั๊ยละคะ เค้าเรียกว่าเลียนแบบแยบยล หนูแอบไปดูที่กรมมาเห็นคนแน่นกรม เลยคาดว่าน่าจะไปโอนที่ดินจากคุณพ่อคุณแม่เหมือนหนูเพียบ เรียกว่ามีผู้นำดี หนีภาษี เอ๊ย..ประหยัดภาษีได้เยอะ งานนี้ที่ดินหนูก็ได้มาแม้จะไม่ฟรี แต่ก็ยังไม่ต้องจ่ายชำระไปอีกนาน แถมค่าที่ปรึกษาก็ไม่เสียสักบาท
ขายหุ้นไม่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
ขายที่ดินต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
อยากปรบมือให้กับการนำเรื่องราวในชีวิตจริงของท่านผู้นำ ที่ได้รับการยืนยันความถูกต้องโดยคุณสรรพ์ของเรามาปรับใช้ แต่ปรบมือข้างเดียวมันก็คงไม่ดัง เอ๊ย..แต่เราต้องเทียบเคียงเรื่องของเรากับเรื่องของเค้า ก่อนจะพบว่ามันแตกต่างกัน ข้อแรกการขายหุ้น สามารถทำได้ด้วยการส่งมอบใบหุ้นหรือนำเอกสารซื้อขาย ไปแจ้งนายทะเบียนของบริษัทจำกัด ทำการจดแจ้งการโอนหุ้นก็เป็นอันเรียบร้อย ส่วนการส่งมอบที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ จะต้องจดทะเบียนที่กรมที่ดิน ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน ผู้ขายที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์จะต้องชำระ 3 เด้ง เอ๊ย..ชำระภาษี 3 รายการด้วยกัน คือ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรืออากรแสตมป์
ค่าธรรมเนียมโอน
หากไม่จดทะเบียนและไม่ชำระภาษีทั้ง 3 รายการพี่ดินของเราก็จะไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ เท่ากับว่าการซื้อขายก็จะไม่สมบูรณ์ หนูกับน้องก็จะไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินสมดังตั้งใจ และไม่เป็นไปตามการวางแผนภาษีที่วางไว้อย่าแยบยล ความแตกต่างระหว่างการซื้อขายหุ้นของท่านอุ๊งกับการซื้อขายที่ดินของน้องคือ น้องต้องให้คุณพ่อคุณแม่กำเงิน เพื่อนำไปชำระภาษีวันโอนกรรมสิทธิ์ไม่มากไม่น้อยแค่ ภาษีเงินได้คำนวณอัตราก้าวหน้า จากราคาประเมินทุนทรัพย์หลังหักรายจ่ายตามอายุการถือกรรมสิทธิ์ ภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 3.3% จากราคาประเมินทุนทรัพย์
หรือราคาซื้อขายที่สูงกว่า สุดท้ายคือค่าธรรมเนียมโอนอัตรา 2% จากราคาประเมินทุนทรัพย์ แต่ถ้าโชคดีคุณพ่อคุณแม่ถือที่ดินมาเกิน 5 ปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ยังไงก็ต้องก้มหน้าไปชำระอากรแสตมป์แทน แต่ชำระแค่ 0.5% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ หรือราคาซื้อขายที่สูงกว่า
แผนแตกหรือฮั้วแตก แล้วแต่จะเรียก เพราะเมื่อเปลี่ยนจากการซื้อขายหุ้นเป็นซื้อขายที่ดิน แม้จะชำระด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินเหมือนกัน และอ้างอิงได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ได้รับเงิน ก็เลยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายที่ดินเหมือนกัน แต่พอต้องไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พี่ดินของเราก็ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่จ่ายไม่โอน เท่ากับว่าก็ต้องเสียภาษีหนักเอาเรื่องเหมือนกัน เสียภาษีที่กรมที่ดินแล้ว รับโอนที่ดินกันเรียบร้อย คุณพ่อคุณแม่จะไม่ไปยื่นแบบ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะยังไม่ได้รับเงินจากการขายก็แยกว่ากันไปอีกเรื่อง
ตบท้ายให้คิดก่อนวางแผนภาษี ลองไปเหลือบดูว่าที่ดิน ที่จะแอบไปตีท้ายครัว เอ๊ย..ไปให้ท่านพ่อท่านแม่โอนให้ลูกแต่ละคนเกิน 20 ล้านบาทต่อคนไหม ถ้าไม่เกินก็โอนเลยไม่ต้องยุ่งยาก หาเรื่องทำเป็นการซื้อขายชำระด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน หากเกินก็ลองดูว่า แยกโอนเป็นแปลงไม่ให้เกินปีละ 20 ล้านบาท ก็เป็นอีกทาง เพราะคุณสรรพ์ท่านบอกว่า พวกเราชาวบุคคลธรรมดา หากได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี…เย้
เรื่องนี้ถ้าหนูเป็นผู้มาก่อนกาล คิดก่อนทำก่อน บทจบอาจจะไม่สวย เหมือนเรื่องของท่านอุ๊ง แต่เมื่อท่านผู้นำทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แม้จะไม่การันตีว่าเราจะรอดเพราะบารมีมันแตกต่างกัน แต่ก็น่าจะใช้เป็นยันต์คุ้มภัยได้อีกหลายปี ใครคิดจะทำตามก็ทำบุญให้มากไว้ด้วยละกัน
รู้ก่อนลุย !! |
|
|
มาตรา 42 เงินได้พึงประเมิน ประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ (27) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
#ซื้อที่ดิน #ขายอสังหาริมทรัพย์ได้มาโดยมรดก #ถือกรรมสิทธิ์เกิน5ปี #ภาษีเงินได้หักณที่จ่าย #บุคคลธรรมดา #นิติบุคคล #ภาษีธุรกิจเฉพาะ #ค่าธรรมเนียมโอน #ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ #อากรแสตมป์ #ราคาประเมินทุนทรัพย์ #ภาษีการรับให้ #ภาษีมรดก #ตั๋วสัญญาใช้เงิน |