มีใบไร้VAT
"เหล็กที่ผ่านไฟย่อมแข็งแกร่ง
คมยิ่งกว่าเหล็กธรรมดา
ใจที่ผ่านอุปสรรคมาก
ไม่หวั่นปัญหา ไม่ว่าจะหนักเพียงใด"
ขออนุญาตสอบถามหน่อย หนูเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้า ซึ่งหนูรู้มาว่าผู้จ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่คุณสรรพ์กำหนดในฐานะผู้ประกอบการที่ดีหนูเลยจัดทำใบกำกับภาษีให้ลูกค้าและระบุจำนวนเงินที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายไว้เรียบร้อย แต่ใบกำกับภาษีหนูไม่ได้รวม VAT 7% เข้าไปเพราะหนูเข้าใจว่า เก็บอย่างหนึ่งแล้วจะไม่ต้องอีกอย่างหนึ่ง กรณีนี้หนูสามารถเรียกเก็บ VAT ย้อนหลังจากลูกค้าเพื่อนำส่งคุณสรรพ์ได้ไหมคะ
ผู้ประกอบการจดทะเบียน
ต้องจัดทำใบกำกับภาษี
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
จออำจำ จออำจำ ความดีเราทำ เราจงทำแต่ความดี ชาวนาทำนา จึงมีข้าวมาเลี้ยงชีพชีวี ชาวนาทำดี ชาวนานั้นมีบุญคุณแก่เรา อีกไม่นานทุกคนจะอยู่ดีมีเกียรติมีศักดิ์ศรีไปด้วยกัน เป็นคำมั่นสัญญาที่ตราตรึงอยู่ในใจ กลับมาเรื่องของเราดีกว่า พี่ยังไม่อยากไปโหนกระสวยคุณน้องและคุณพี่ทั้งหลาย ที่บังเอิญผ่านมาได้ยินเพลงนี้ เอ๊ย..ได้อ่านบทความนี้ ต้องจำให้ขึ้นใจว่าทุกครั้งที่เราขายสินค้าหรือให้บริการ เรามีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำใบกำกับภาษีและส่งมอบ ส่วนจะต้องทำเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าเกิดความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อไหร่ ระหว่างส่งมอบสินค้า, โอนกรรมสิทธิ์, รับชำระเงิน, จัดทำใบกำกับภาษีต่างกรรมต่างวาระ
ไม่ว่าเราจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าหรือไม่ก็ตาม ถึงเวลาเราก็มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับคุณสรรพ์ ภายในเวลาที่นัดหมาย ห้ามหือห้ามอือ ห้ามเลื่อนถ้าไม่อยากเสียค่าปรับ อธิบายมาถึงตรงนี้ คงพอจะเข้าใจแล้วนะว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ที่ไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า ส่วนที่จะไปเรียกเก็บจากลูกค้าย้อนหลังได้ไหม ตอบว่าได้ เพราะเรามีสิทธิเรียกเก็บ หากว่าราคาขายสินค้าที่เราตกลงกับลูกค้าไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ แต่ลูกค้าจะยอมจ่ายหรือไม่ก็คงต้องไปว่ากัน แต่ย้ำอีกครั้งว่าไม่ว่า ฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย ลูกค้าจ่ายไม่จ่ายเราก็ต้องนำส่ง VAT
VAT ผู้ให้บริการเรียกเก็บผู้จ่ายค่าบริการจ่าย
WHT ผู้จ่ายเงินหักผู้ให้บริการถูกหัก
ส่วนภาษีหัก ณ ที่จ่ายชื่อก็บอกชัดเจนว่า หักภาษีตอนที่จ่ายเงินไม่ต้องนำสืบว่าใครหัก คุณสรรพ์มองการณ์ไกล กำหนดไว้หลายปีมาแล้วว่า หัก ณ ที่จ่าย ก็ต้องหมายความว่า ใครจ่ายคนนั้นก็มีหน้าที่หัก คุณน้องในฐานะผู้ให้บริการ จึงต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากค่าบริการที่จ่าย จากนั้นผู้จ่ายเงินก็ต้องนำส่งภาษีที่หักไว้ให้กับคุณสรรพ์ ที่คุณน้องอธิบายว่าหนูเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย เลยไม่แน่ใจว่าเขียนผิดเข้าใจผิดหรืองง ทั้งคนจ่ายเงินคนรับเงิน
ใบกำกับภาษีต้องระบุ
จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจาก
มูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
สืบจากคำบอกเล่าโดยไม่เห็นหลักฐาน ไม่รู้ว่าน้องได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้วกี่ใบ เพราะใบกำกับภาษีที่ออก จะกลายเป็นมีสาระสำคัญไม่ครบถ้วน ไม่ระบุภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณจากค่าสินค้าหรือค่าบริการปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากโชคดีหรือเจ้าหน้าที่ใจดีเห็นว่าบกพร่อง โดยสุจริต อาจจะลดค่าปรับลงให้ได้
|
รู้ก่อนลุย!!
มาตรา 90 บุคคลดังต่อไปนี้ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม บทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท (12) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 86/4 มาตรา 86/5 มาตรา 86/6 มาตรา 86/7 มาตรา 86/9 มาตรา 86/10 หรือมาตรา 86/11 |
|
|
#ภาษีมูลค่าเพิ่ม #ภาษีขาย #ภาษีซื้อ #ภาษีแยกนอก #ภาษีรวมใน #ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้ #ภาษีซื้อไม่ขอคืน #ภาษีหักณที่จ่าย #จุดรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม |