กู้แทน
"อย่าพยายามทำคนอื่นให้เหมือนใจเรา
เพราะเราก็ทำให้เหมือนใจคนอื่นไม่ได้"
กรรมการบริษัทกู้เงินจากธนาคาร แต่นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท หนูจะต้องทำอย่างไร ถึงจะถูกต้องถูกใจคุณสรรพ์ของเราดีคะ หนูยืนยันนั่งยันนอนยันว่า กู้มาใช้ในกิจการบริษัทเต็มร้อย ไม่มีหมกเม็ดเม้มเก็บแม้สักบาท น้องชีในบริษัทก็รู้ก็เห็น แต่ก็หานำพาไม่ ยังยืนยันว่าค่างวดที่บริษัทผ่อนชำระให้กับธนาคารทุกเดือนเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม น้องชีอธิบายว่า ไม่ต้องห่วงเงินไม่หายไปไหน เพราะหนูบันทึกว่านำเงินไปจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับธนาคาร แทนกรรมการครบทุกบาททุกสตางค์ แต่เนื่องจากหนูไปกู้ในนามบุคคล ตอนคืนเงินกู้ยืมใช้เงินบริษัทไปคืน ก็ต้องบันทึกเป็นคชจ.ต้องห้าม ต้องนำมาบวกกลับในการคำนวณภาษี ทำให้ตอนนี้มียอดค่าใช้จ่ายต้องห้ามแบบนี้เยอะมากค่ะ เมื่อถามว่าต้องแก้ไขอย่างคำตอบที่ได้รับไม่ถูกใจอย่างแรงคือ ให้กรรมการนำเงินมาเคลียร์ให้กับธนาคารเอง งงในงงเลย ต้องร้องเรียนมาตามสายลม เผื่อมีผู้ใจบุญเห็นและช่วยหาทางออก
น้องเค้าก็ไม่ได้ถามเรา...แค่บังเอิญผ่านมาได้ยินเพลงนี้...คาดว่าเธอก็คงรู้ดีว่าเป็นฉันมอบให้เธอคนเดียว... อาจไม่เกี่ยวแต่สำคัญ อย่าว่าแต่ขอกู้เงินเลย ตอนนี้แค่จดทะเบียนตั้งบริษัทเสร็จ จะไปขอเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อใช้รับเงินจ่ายเงินพี่แบงค์บางแห่ง บอกง่ายสั้นกระชับว่ากลับไปนอนรอให้ครบ 1 เดือนก่อน ถึงจะเปิดบัญชีได้ ทิ้งเราไว้กลางทาง ให้หาทางออกเองว่าระหว่างนี้ ค้าขายอะไรคงต้องรับจ่ายเงินสดไปก่อน แต่จะไปยืนตีหน้าเศร้าเล่าให้คุณสรรพ์ฟังได้มั้ยละเนี่ย หากผ่านด่านเปิดบัญชีได้ คิดจะขอสินเชื่อก็ต้องเจอกับสถานการณ์ที่มันแน่นอกต้องยกออกสำหรับ SME’s จริงๆ เพราะการที่พี่แบงค์จะให้เงินกู้กับใคร ก็ต้องมีหลักเกณฑ์อีกเยอะ
เปิดดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ต้องมีกำไรสะสม และต้องมีกำไรในปีที่ขอกู้ยืม
มีความสามารถในการชำระหนี้
มีหลักประกันการกู้ยืม
หากไม่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ก็คงต้องทำใจล้วงกระเป๋าก้าวผ่านไปก่อน กรณีของหนูก็น่าจะตกพุ่มหม้าย เอ๊ย..ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคือ กู้ยืมในนามบริษัทยังไม่ได้ แต่บริษัทต้องใช้เงินเพื่อขับเคลื่อน เลยต้องบากหน้าไปกู้ยืมเงินในนามส่วนตัว จากนั้นได้เงินมาเท่าไหร่ก็ประเคนให้บริษัท ตามที่ได้บอกเล่ามาตามสายลม ถ้ากู้แล้วไม่ต้องคืนก็คงไม่มีปัญหา แต่พอต้องคืนแน่นอนว่าบริษัทนำเงินไปใช้ ก็ต้องเป็นคนจ่ายมันก็เลยลามมากลายเป็นรายจ่ายต้องห้าม
กรรมการให้บริษัทกู้ยืมเงิน
บริษัทชำระเงินต้น และดอกเบี้ยให้กรรมการ
ทางออกง่ายสั้นกระชับโดยปรับความจริงมาใช้คือ กรรมการไปกู้เงินมาได้เท่าไหร่ก็ให้บริษัทหมด ก็ต้องถือว่าบริษัทได้กู้ยืมเงินจากกรรมการไปใช้หมุนเวียน นำหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีบริษัทมาบันทึก เป็นเจ้าหนี้กรรมการคิดดอกเบี้ยกันให้ชัดเจน กำหนดเงื่อนไขการจ่ายคืนให้สอดคล้องกับจำนวนเงิน และระยะเวลาที่กรรมการต้องจ่ายให้กับพี่แบงค์ ตอนบริษัทจ่ายเคืนเงินกู้ยืม ก็บันทึกว่าชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้กรรมการ หากเงินกู้ยืมที่นำมาใช้ในกิจการเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ พิสูจน์ให้คุณสรรพ์ยกมือไว้วางใจได้ ดอกเบี้ยก็สามารถบันทึกเป็นรายจ่ายทั้งทางบัญชีและภาษีได้ ไม่โดนบวกกลับแต่อย่างใด
ดอกเบี้ยรับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3%
จ่ายดอกเบี้ยต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 %
ผ่านด่านแรกได้อย่าเพิ่งสรุปตัดจบ เพราะการที่บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับกรรมการ เท่ากับว่ากรรมการต้องมีรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งกรรมการจะต้องนำดอกเบี้ยรับไปคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 3.3% ยื่นนำส่งขณะที่บริษัทในฐานะผู้จ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จึงจะครบสมบูรณ์ไม่อายฟ้าไม่อายดิน ไม่ต้องโดนเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ปวดใจ
น่าจะเจอกันมาตั้งนาน..ก่อนที่เธอจะไปกู้ใคร..อยากให้มันมีปาฏิหาริย์..ให้ตัวฉันย้อนเวลากลับไป มันน่าเสียดายปาฏิหารย์ไม่มีจริง ถ้าตอนกู้ยืมเงินเรารู้ตั้งแต่ต้นว่า บริษัทไม่สามารถกู้ยืมเงินจาก สถาบันการเงินได้เพราะยังไม่เข้าเงื่อนไข แต่กรรมการมีคุณสมบัติที่จะขอสินเชื่อ เราก็จัดประชุมผู้ถือหุ้น ขออนุมัติให้กรรมการไปกู้ยืมเงินในนามส่วนตัว เพื่อนำมาใช้ในกิจการบริษัท โดยจัดทำรายงาน การประชุมผู้ถือหุ้น ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่า
1. บริษัทต้องการกู้ยืมเงินเพื่อนำใช้ในกิจการ แต่มีคุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไขของธนาคาร
2. มีมติให้กรรมการซึ่งมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดทำการกู้ยืมเงินแทน
3. บริษัทรับผิดชอบในการ ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขในสัญญากู้ยืมเงิน
เมื่อกรรมการได้รับเงินกู้ยืมเงินจากธนาคารมาเท่าไหร ให้นำเงินกู้ยืมเข้าบัญชีบริษัททั้งจำนวน เวลาบริษัทจ่ายชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ก็ให้จ่ายชำระให้กับธนาคารโดยตรง เพียงเท่านี้ การชำระดอกเบี้ยให้ธนาคารไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย นำใบเสร็จรับเงินระบุชื่อกรรมการผู้กู้ยืม มาเป็นหลักฐานบันทึกบัญชีได้ อ่านมาถึงตรงนี้ จะติดต่อให้เป็นที่ปรึกษา ก็ไม่ว่ากระไรนะคะคุณพี่เจ้าขา
#กู้เงินธนาคาร #ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม #บุคคลธรรมดา #นิติบุคคล #ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #ภาษีธุรกิจเฉพาะ #ภาษีหักณ ที่จ่าย #รายจ่ายต้องห้าม #เจ้าหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ |