เปลี่ยนใจ
"เหล็กที่ผ่านไฟย่อมแข็งแกร่ง
คมยิ่งกว่าเหล็กธรรมดา
ใจที่ผ่านอุปสรรคมาก
ย่อมไม่หวั่นปัญหา ไม่ว่าจะหนักเพียงใด"
เลิกแล้วค่ะ หนูเลิกกับเขาแล้วค่ะ อ๋อยังหลอกค่ะ ไม่คิดมีใหม่หรอกค่ะ.. แค่คิดว่าอยากเลิกเท่านั้นเอง ยังไม่ได้ลงมือลงไม้ทำอะไร เรื่องของเรื่องคือหนูหลวมตัวไปฟังมาว่า จดบริษัทแล้วดี เลยไปจดมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็มีบริษัทเป็นของตัวเอง มีร้านค้าปลีกเพื่อขายสินค้าหน้าร้าน และขายสินค้าออนไลน์ไปด้วยกัน เผลอแป๊บเดียวเข้าปีที่ 4 แล้ว แต่เป็นสี่ปีที่ถือว่าระทมทุกข์พอสมควร เพราะปีที่ผ่านมาได้ลาภสัตว์สองเท้าโดนประเคน เอ๊ย..ประเมินภาษีย้อนหลังไปแสนกว่าบาท ไปอ้อนวอนขอผ่อนระยะยาว จนตอนนี้อยู่ในช่วงดาวน์น้อยผ่อนนาน แต่ใกล้จะหมดภาระผูกพันกับคุณสรรพ์แล้ว
พ้นเคราะห์พ้นโศกได้ หนูเลยคิดอยากปิดบริษัทและหันมาเริ่มต้นใหม่ โดยการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาคือหนูเอง และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในนามหนูเช่นเดียวกัน เพราะประเมินแล้วว่ายอดขายก็ไม่น่าจะโตกว่านี้แล้ว กำไรน้อยถึงน้อยมากแค่ 5% ของยอดขาย ค่าใช้จ่ายเยอะเหลือเกิน หนูสงสัยว่าถ้าหนูในฐานะกรรมการบริษัท เปลี่ยนมาทำธุรกิจและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในนามบุคคล และดำเนินกิจการต่อร้านค้าที่เดิม สามารถทำได้ไหมจะมีผลอะไรไหม
บริษัทกับบุคคลธรรมดา
เป็นคนละคนคนละส่วน
กรรมการทำหน้าที่บริหารบริษัท
ต้องบอกและทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อเราเลือกทำธุรกิจในนามนิติบุคคลได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งแล้ว แม้เราจะเป็นผู้ถือหุ้นเป็นกรรมการของบริษัท แต่ก็มีเพียงสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น และมีหน้าที่ในฐานะกรรมการบริหารบริษัทเท่านั้น บริษัทไม่ใช่เรา เงินของบริษัทก็ไม่ใช่เงินเรา ทรัพย์สินของบริษัทก็ไม่ใช่ของเรา ต้องแยกส่วนกันให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลายครั้งที่พบเห็นมักจะนำมาปนกันจนยุ่งเหยิง เห็นเงินบริษัทมีเยอะนึกว่าเงินเรา หยิบมาใช้จนธุรกิจไปไม่รอด ไม่ก็เป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ของบริษัทพัวพันกันไปหมด
เมื่อทำธุรกิจในนามบริษัทแล้วไปไม่รอด อยากจะเลิกกิจการก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้องเคลียร์ทรัพย์สินหนี้สินต่างๆให้หมด เพื่อให้พร้อมต่อการชำระบัญชี เวลาที่จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยจะเลิกให้เสร็จ และค่อยเริ่มทำธุรกิจในนามบุคคล หรือจะดำเนินการไปพร้อมกันก็ไม่มีใครว่า แต่ต้องแยกกระเป๋าแยกรายได้ให้ดี อย่าไปพัวพันกันเพราะจะเกิดปัญหาใหม่อีกเรื่อง ร้านค้าที่เป็นช่องทางขายสินค้าของคุณพี่ ก็ต้องกลับมาดูว่าเป็นของบริษัทหรือเช่า หากเป็นคิดจะปิดบริษัทก็ต้องขาย จะขายคุณพี่หรือขายใครก็ว่ากันไป แต่ถ้าเป็นการเช่าก็สบายใจหน่อย บอกเลิกสัญญาคืนพื้นที่และคุณพี่ก็เช่าใหม่ เรื่องการเตรียมเลิกบริษัท เคยบอกเล่ามาหลายหนแล้วเอาไว้จะหยิบกลับมาเล่าให้ฟังใหม่
ผู้ถือหุ้นต้องรับผิดชำระค่าหุ้นส่วนที่ค้างชำระ
กรรมการไม่ต้องรับผิดชอบกับหนี้สินของบริษัท
แต่เดี๋ยวก่อน..เพียงคุณโทรมาตอนนี้ แฮ่..ไม่ใช่ครับ อินกับเสียงโฆษณาขายของออนไลน์มากไปหน่อย ก่อนสรุปว่า เราไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยคงไม่ใช่ ต้องกลับมาทบทวนก่อนว่า บริษัทมีหนี้ภาษีหรือมีหนี้กับบุคคลภายนอกไหม ถ้ามีแล้วพบว่าเงินที่บริษัทมีไม่เพียงพอใช้หนี้ งานนี้อาจจะมีปัญหาหากคุณพี่ในฐานะผู้ถือหุ้นค้างชำระค่าหุ้นอยู่ งานนี้หากมีการฟ้องคดีในอนาคตเราอาจจะถูกลากเข้าไปในคดี โดยเรียกร้องให้ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ เพื่อนำไปชำระหนี้สินของบริษัทได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณพี่ไปลงนามค้ำประกันหนี้ของบริษัทเข้าไป งานนี้อาจจะยิ่งพัวพันรับผิดชอบในหนี้ของบริษัท ในฐานะผู้ค้ำประกันเข้าไปอีก ควรรีบเคลียร์ให้จบจะได้เริ่มชีวิตใหม่
หักรายจ่ายเป็นการเหมา
หักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร
ทางเลือกการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา จะเป็นคำตอบของปัญหาที่เจออยู่หรือไม่ คงต้องคิดให้รอบคอบ เพราะการที่กำไรของกิจการมีแค่ 5% หากเปลี่ยนมาทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาต้นทุนจะลดลง และทำให้ธุรกิจอยู่รอดหรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเราเอง แต่ในมุมภาษีอาจจะพอช่วยบรรเทาได้บ้าง เพราะการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา อาจจะพอให้ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจลดลงได้บ้าง เพราะสามารถเลือกหักรายจ่ายเป็นการเหมา ซึ่งไม่ต้องเก็บเอกสารอะไรให้วุ่นวายมากมายจนเกินไป ไม่ต้องกังวลว่าคู่ค้าจะไม่ออกเอกสารใบเสร็จรับเงิน เพื่อนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้กำไรอาจจะบวมจนระทมทุกข์ด้านภาษี
|
รู้ก่อนลุย!!
มาตรา 8 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่าย เป็นการเหมา เว้นแต่ผู้มีเงินได้จากกิจการตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร |
#เงินได้มาตรา40 (8) #ซื้อมาขายไป #ภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า #ค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ #ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #หักรายจ่ายเป็นการเหมา #หักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร #ค่าลดหย่อน #เงินได้พึงประเมิน |