ผ่อนบ้านให้บริษัท
"ท้อแท้ได้ แต่อย่าท้อถอย
อิจฉาได้ แต่อย่าริษยา
พักได้ แต่อย่าหยุด
ทำให้ถึงที่สุด แล้วหยุดที่คำว่าพอ"
กำไรมีแต่เงินไม่มีถึงเวลาต้องเสียภาษีจะเอาเงินที่ไหนไปเสีย แค่หมุนเงินมาทำธุรกิจให้รอดในแต่ละวันก็หนักหนาแค่ 1 วัน มีเรื่องวิ่งเข้าหาพันกว่าเรื่อง พอปลายเดือนก็มีเพิ่มมาอีกเรื่องคือ เงินไม่พอจ่ายเงินเดือนพนักงาน พอจะมีวิธีไหนที่ทำให้กำไรลดลง แบบรถด่วนขบวนสุดท้ายไหมคะ หนูนึกขึ้นได้ว่าบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ที่ต้องผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยอยู่ หนูนำไปใช้เป็นที่อยู่ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท หนูพอจะให้บริษัทจ่ายค่าผ่อนบ้านแทนหนูและนำค่าผ่อนบ้านไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไหม ถ้าได้กำไรลดทันตาเห็นพริบตาเดียวกำไรกลายเป็นขาดทุนเลย
รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ
หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีไม่ได้
ตอบไปอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ใจต้องการ แต่ถ้าจะปล่อยให้ผ่านไปก็จะมีผลกระทบบานปลายลุกลามกันไป ประเด็นที่คุณน้องต้องให้ข้อมูล ก่อนจะขอคำตอบคือบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ ใช้เป็นสถานประกอบการเป็นที่ทำงานของบริษัท หรือใช้แค่เป็นที่อยู่ในการจดทะเบียน หากใช้เป็นที่ทำงานจริง ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน เรียกว่าส่วนหนึ่งใช้เป็นสำนักงานส่วนหนึ่งใช้เป็นบ้านพักอาศัย รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน, ค่าตกแต่ง ค่าต่อเติม ค่าซ่อมแซม ล้วนแล้วแต่เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ย่อมสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ แต่จะหักเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนหรือคำนวณค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ เพื่อนำมาหักเป็นรายจ่ายก็ต้องไปว่ากันอีกครั้ง หากหนูจำไม่ได้ ลองไปย้อนหาบทความ เรื่องการคำนวณค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ สำหรับรายจ่ายเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 1 ปี ดูนะ ถ้ามีเวลาอาจจะหยิบมาขีดเขียนให้อ่านอีกรอบ
เงินผ่อนชำระค่างวดหักรายจ่ายไม่ได้
ค่าเช่าหักเป็นรายจ่ายได้
ยังไม่พอหากอาคารถูกใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและใช้เป็นสำนักงาน จะหักรายจ่ายได้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานเท่านั้น จะตกแต่งต่อเติมซ่อมแซมยังไง ก็แบ่งสัดส่วนให้ดีจะได้ไม่มีปัญหา เมื่อเข้าใจแล้ว คำถามเรื่องค่างวดน่าจะเห็นชัดว่า ไม่สามารถนำค่างวดมาหักเป็นรายจ่ายได้ เพราะค่างวดที่ผ่อนชำระคือ การชำระคืนเงินกู้ยืมที่นำมาซื้อทรัพย์สิน แม้จะจ่ายไปจริงก็ไม่ใช่รายจ่าย แต่เป็นการชำระหนี้ หากบริษัทเป็นเจ้าของอาคารสามารถนำมูลค่าอาคารที่ซื้อมาคำนวณหักค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ มาหักเป็นรายจ่ายได้ แต่เมื่ออาคารไม่ใช่ของบริษัทค่าเสื่อมราคาก็นำมาหักรายจ่ายไม่ได้
แต่เดี๋ยวก่อนเพียงคุณน้องจ่ายค่าที่ปรึกษา แฮ่..เมื่อคุณน้องมาปรึกษา ก็ต้องอธิบายต่อว่า เมื่อบริษัทใช้บ้านของคุณน้องเป็นสำนักงานจริง หากยินยอมจ่ายค่าเช่าสำหรับพื้นที่ส่วนที่เป็นสำนักงาน ก็สามารถนำค่าเช่าที่จ่ายชำระไปมาหักเป็นรายจ่ายของกิจการได้ หากคิดค่าเช่าแพงกำไรก็ลดภาษีก็น้อย สมเป็นบ้านน้อยหลังนี้สุขีเสียจริง
ค่าเช่าจะคิดกันอย่างไรก็คิดกันไป แต่เพื่อให้ปลอดภัยไม่ถูกประเมินในภายภาคหน้า ควรหาข้อมูลว่าในตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าแถวย่านที่เป็นที่ตั้งของสำนักงาน คิดค่าเช่ากันเท่าไหร่ก็คิดไปตามนั้นไม่ขาดไม่เกิน กำหนดค่าเช่าให้เป็นไปตามที่คุณสรรพ์กำหนดไว้ว่า หากใครให้เช่าและคิดค่าเช่าต่ำกว่าท้องตลาดอาจจะถูกประเมินรายได้เพิ่ม กลับกันหากคิดค่าเช่าสูงกว่าค่าเช่าทั่วไปในท้องตลาด บริษัทในฐานะผู้จ่ายค่าเช่าก็อาจจะถูกประเคน เอ๊ย..ประเมินเป็นรายจ่ายต้องห้ามได้ ก่อนลงมือคิดตัดสินใจอะไรก็ไปตกผลึกให้ลงตัว เดินหน้าจะได้ไม่ต้องถอยหลัง เซหลายก้าวให้เสียเวลาเสียโอกาส
|
รู้ก่อนลุย!!
(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก (ก) การให้เช่าทรัพย์สิน ในกรณี (ก) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้มีเงินได้แสดงเงินได้ต่ำไปไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินได้นั้น ตามจำนวนเงินที่ทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ตามปกติ และให้ถือว่าจำนวนเงินที่ประเมินนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินของผู้มีเงินได้ ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
|
#รายจ่ายเพื่อการลงทุน #ทรัพย์สิน #โฮมออฟฟิศ #ค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ #ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #ค่าเช่าทรัพย์สิน #ค่าเช่าอาคาร #ผ่อนชำระค่างวด |