ใช้บ้านเดียวกัน
"ประโยชน์อะไร
ส่วนมนต์เก่งแต่ยังชอบนินทา
บำเพ็ญทานแต่ยังเห็นแก่ตัว
รักษาศีลแต่ยังคิดร้ายผู้อื่น
เจริญสมาธิแต่ยังคิดฟุ้งซ่าน"
หลังจากสาดน้ำวันสงกรานต์เสร็จมาหมาดๆ ก็ได้รับโชคดีสองเด้งเลยเพราะมีหมายเรียกจากอำเภอให้ไปพบ หลังจากแวะไปจิบน้ำชายามบ่ายไต่ถามสารทุกข์สุขดิบก็ได้ใจความว่าไม่ได้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมา 2 ปี เห็นตัวเลขภาษีและค่าปรับแล้วบอกได้คำเดียวว่าจิเป็นลม
จากเอกสารที่ได้รับมาปรากฎข้อความว่าเสียภาษีอัตรา 0.3% เนื่องจากเป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพราะนำอาคารมาใช้เป็นสำนักงานคิดเป็นเงินออกมาก็หลายบาทอยู่ จะทำอย่างไรให้เสียภาษีน้อยลงกว่านี้เราพอจะเอาอะไรไปปิดบังไม่ให้เค้ารู้ได้ไหมว่าใช้เป็นอาคารสำนักงานปราบพอจะหาอะไรมาช่วยปิดบังซ่อนเร้นให้ได้ไหม
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เก็บจากการใช้ประโยชน์
ใช้เพื่อการเกษตร, เพื่ออยู่อาศัย
เพื่อพาณิชย์, รกร้างว่างเปล่า
เสียภาษีจากน้อยไปมากสุดตามลำดับ
การที่เค้าจะประเมินเราได้เค้าต้องออกสำรวจมาแล้วงานนี้คุณพี่เค้าน่าจะเห็นหมดไส้หมดพุงแล้วว่า ใช้อาคารพาณิชย์เป็นสำนักงานของบริษัท ซึ่งถ้าไปเช็คสถานประกอบการของบริษัทก็น่าจะยืนยันตรงกันว่าจดทะเบียนที่อาคารแห่งนี้การจะเอาป้ายผ้ามาปิดไม่ให้เห็นว่าเป็นสำนักงานคงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น
ตัวช่วยที่น่าจะพอมีเฮียต้องย้อนกลับไปดูว่า อาคารพาณิชย์หลังนี้มีกี่ชั้นใช้เป็นสำนักงานทั้งหมดหรือแค่บางส่วน ถ้าใช้เป็นสำนักงานแค่บางส่วน ส่วนที่เหลือใช้ประโยชน์เพื่ออะไร ถ้าไม่เข้าใจลองย้อนกลับไปดูวิธีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งระบุชัดเจนว่าจัดเก็บจากการใช้ประโยชน์น่าจะพอเข้าใจ เพราะใช้เป็นอาคารสำนักงาน ก็คือการใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ก็จะเสียภาษีอัตรานึง แต่พอใช้เพื่ออยู่อาศัยจะเสียในอีกอัตราหนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ใช้เพื่อการเกษตรเสียภาษีอัตรา 0.01 – 0.1%
ใช้เพื่ออยู่อาศัยเสียภาษีอัตรา 0.02 – 0.1%
ใช้เพื่อการพาณิชย์เสียภาษีอัตรา 0.3 – 0.7%
รกร้างว่างเปล่าเสียภาษีอัตรา 0.3- 0.7%
เฮียต้องย้อนกลับไปดูว่าอาคาร 4 ชั้น ใช้เป็นสำนักงาน 2 ชั้นใช้เป็นบ้านพักอาศัย 2 ชั้น และที่สำคัญมีชื่อเฮียอยู่ในฐานะผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ในทะเบียนบ้านด้วยไหม หากคำตอบคือถูกทุกข้อ เฮียจะได้รับสิทธิเสียภาษี 2 อัตราทันทีคือ เสียในฐานะใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ส่วนนึงใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยส่วนนึง
สัดส่วนการใช้ประโยชน์
หักฐานยกเว้น
คูณอัตราภาษีของประเภทนั้น
เคยอธิบายเรื่องการคำนวณและการยกเว้นไปแล้วเฮีย อาจจะต้องลองไปหาดู หรือจะถามอากู๋ดูก็ได้อยากประหยัดภาษีต้องหาความรู้หน่อย ที่แน่ๆ ถ้าเฮียแยกประเภทการใช้ประโยชน์ได้ชัดเจนจากที่โดนประเมินภาษี จากการใช้ประโยชน์เพื่อพาณิชย์เสียอัตราเริ่มต้น 0.3% อย่างเดียว จะกลายเป็นว่าครึ่งหนึ่งของอาคาร จะเสียภาษีเริ่มจาก 0.3% อีกครึ่งหนึ่งจะเสียภาษีจากการใช้ประโยชน์เพื่อการพักอาศัยเสียภาษีอัตราเริ่มจาก 0.02% ประหยัดได้แค่ไหนต้องลองถามใจดู
คิดไม่ผิดเลยที่มาบ่นแถวนี้ มั่นใจเลยว่าอาจารย์ปราบน่าจะอดใจไม่อยู่ ห้ามใจไม่ให้ยุ่งเรื่องชาวบ้านไม่ได้ เอ๊ย ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกศิษย์ไม่ได้เลย ยิ่งแอบไปหาข้อมูลมาพบว่า ถ้าเป็นบ้านเพื่ออยู่อาศัยมีชื่อเราในทะเบียนบ้าน อาจจะได้รับยกเว้นสำหรับมูลค่าบ้าน ส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท อีกต่างหากแบบนี้หวานคอแร้ง แต่เค้าส่งเอกสารประเมินมาแล้ว แถมแวะเวียนมาที่ออฟฟิศแทบจะสามเวลาหลังอาหารแบบนี้ ผมจะต้องทำอย่างไรให้ได้ลดภาษีสมดังตั้งใจ ถามอากู๋ก็ไม่ได้คำตอบจะไปถาม tiktok ก็เห็นแต่โฆษณาขายของ
สำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้ถือกรรมสิทธิมีชื่อในทะเบียนบ้าน
ภาพถ่ายการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนที่เป็นสำนักงาน
ภาพถ่ายการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนที่เป็นที่พักอาศัย
รวมรวมหลักฐานในที่เกิดเหตุ เพื่อยันว่าได้นำอาคารสิ่งปลูกสร้างมาใช้ประโยชน์หลายประเภทจริง จุดธูปบูชาพระพุทธพระธรรมพระสงค์ สัตว์ปีกทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิด แฮ่ ผิดเรื่องนำหลักฐานทั้งหมดไปเข้าพบ และชี้แจงเจ้าหน้าที่อธิบายความเป็นมาเป็นไปน่าจะได้ข้อยุติ
รู้ก่อนลุย ! |
|
|
มาตรา ๓๕ ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมด ของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง การคำนวณมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ที่ดิน ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ (๒) สิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ (๓)สิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ กรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ การคำนวณมูลค่าให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
#ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง#ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร#ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย#ใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์#ที่ดินรกร้างว่างเปล่า#ราคาประเมิน#ฐานยกเว้น#ใช้ประโยชน์หลายประเภท |