กระเป๋าแฟน
"มองปัญหา ให้เหมือนกับ เม็ดทราย
ถึงจะเยอะมากมาย แต่ทรายก็เล็กแค่นิดเดียว"
เงินแฟนก็คือเงินเรา เงินเราไม่ใช่เงินแฟน เป็นเรื่องที่หนูประกาศเป็นกฎอัยการศึกประจำบ้าน และบังคับใช้มาตลอด ซึ่งเรื่องราวก็ดำเนินมาด้วยดี จนมาถึงวันนี้วันที่ตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อทำธุรกิจ ซึ่งเราก็นำกฎเรื่องเงินแฟนเป็นเงินเรามาบังคับใช้ทันที การซื้อสินค้าเข้ามาร้านเพื่อจำหน่ายซื้ออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ หนูให้แฟนใช้เงินตัวเองจ่ายทั้งหมด แต่พอนึกขึ้นได้ว่าเมื่อตั้งบริษัทแล้วต้องทำบัญชีโดยนำหลักฐานทั้งหมดมาใช้บันทึกบัญชีแบบนี้ หนูต้องทำเอกสารอะไรไว้ไหม ที่สำคัญเวลาบริษัทเริ่มมีเงินจะคืนเงินให้กับหนู เอ๊ย แฟนหนูได้ไหม
การทำธุรกิจ
ควรแยกกระเป๋าเงินส่วนตัวกับกิจการออกจากกัน
เงินส่วนตัวใช้จ่ายเรื่องส่วนตัว
เงินกิจการใช้จ่ายเรื่องกิจการ
เรื่องเงินแฟนเป็นเงินหนูปราบไม่อยากก้าวล่วง แต่การจะนำกฎบ้านมาใช้กับการทำธุรกิจเป็นเรื่องที่ต้องห้ามต้องระมัดระวังให้มากที่สุด หากทำได้ควรแยกกระเป๋าเงินให้ชัดเจนว่าเป็นของใครรายจ่ายไหนเป็นความรับผิดชอบของใครคนนั้นก็ควรจ่าย หากเงินไม่พอค่อยทำการหยิบยืมกันให้ถูกต้องมีหลักฐานการกู้ยืมให้ชัดเจน ส่วนจะคิดดอกเบี้ยหรือไม่แล้วแต่จะตกลงกันแต่ในประเด็นภาษี ต้องมาพิจารณาว่าหากคิดดอกเบี้ยประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าสิ่งที่ต้องเสียไปหรือไม่ เช่นถ้านำดอกเบี้ยมาหักเป็นรายจ่ายแล้วเสียภาษีน้อยกว่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้ชำระไปแล้วหรือน้อยกว่าภาษีเงินได้ของกรรรมการที่ได้รับดอกเบี้ยแบบนี้ก็น่าจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
กรรมการนำเงินส่วนตัวมาจ่ายชำระ
ค่าสินค้า, เครื่องมือ, อุปกรณ์ให้กับกิจการ
เป็นการให้กิจการกู้ยืมเงิน
แยกกระเป๋าให้ชัดเจนมันก็จะดีแบบนี้ รู้ล่วงหน้าตัดก่อนตายเตือนก่อนวายวอด พอรู้ว่าบริษัทขาดเงินคุณน้องก็ไปควักกระเป๋าเงินคุณแฟน ในฐานะกรรมการ มาให้บริษัทไว้ใช้หมุนเวียน หากไม่ต้องการให้บริษัทเป็นภาระในการหาเงินมาคืนมากจนเกินไป ก็แค่ให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยเวลามาคืนจะได้คืนเฉพาะเงินต้น ไม่ต้องรับภาระมากไป แต่ถ้าจะคิดดอกเบี้ยก็ไม่ได้มีใครว่าอะไร ตามหลักใครใคร่ค้าช้างค้าใครใคร่ค้าม้าค้า
จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กรรมการ
ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
กรรมการผู้รับดอกเบี้ย
เลือกไม่นำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีได้
จะคิดดอกเบี้ยกันเท่าไหร่ก็ว่าไปเอาให้พอหอมปากหอมคอ อาจจะอ้างอิงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของสถาบันการเงินก็ได้จะ MLR, MOR หรืออะไรก็ว่าไป สิ่งสำคัญคือเวลาที่บริษัทจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับกรรมการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย ส่วนบริษัทก็นำดอกเบี้ยที่จ่ายหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ด้วย คิดแบบง่ายสั้นกระชับจะเห็นว่าประหยัดภาษีได้ 5% เพราะดอกเบี้ยจ่ายทำให้กำไรของบริษัทลดลง ประหยัดภาษีในส่วนนี้ไป 20% แต่กรรมการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า
กรรมการไม่มีเงินได้ไม่ต้องเสียภาษี
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย มากกว่าภาษีเงินได้
ขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้
คุณน้องอุตสาห์ก็ไปล้วงกระเป๋าคุณแฟนมาให้บริษัทกู้ยืม รับดอกเบี้ยเข้ากระเป๋าอมยิ้มแก้มตุ่ยมาแล้ว แม้จะได้รับไม่ครบเพราะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปก่อน 15% ถ้าคุณน้องสำรวจตรวจตราแล้วพบว่าตัวเองไม่มีเงินได้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแม้สักบาท คุณน้องสามารถทำใจกล้าไปล้วงภาษี ถูกหัก ณ ที่จ่าย จากคุณสรรพ์ออกมาได้ โดยลองนำดอกเบี้ยรับไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดา หากภาษีที่คำนวณได้น้อยกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ ก็สามารถขอคืนได้ แต่หากภาษีที่คำนวณได้มากกว่า แปลว่าต้องจ่ายคืนก็ค่อยล้มเลิกความคิดขอคืนไปซะ ไม่อย่างนั้นแทนที่จะได้คืนกลับต้องควักกระเป๋าจ่ายแน่
|
รู้ก่อนลุย!
มาตรา 48 เงินได้พึงประเมินต้องเสียภาษีเงินได้ดังต่อไปนี้ (3) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) และ (ช) ดังต่อไปนี้ (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงินที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชย กรรม หรืออุตสาหกรรม |
#เจ้าหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ #แยกกระเป๋าเงินบริษัท #กระเป๋าเงินส่วนตัว #ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม #ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #ภาษีหักณที่จ่าย #ขอคืนภาษี #ภาษีธุรกิจเฉพาะ |