จดก่อนจดหลัง
"ไม่ต้องเสียใจ
ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาต้องมี
แต่ก็แก้ไขได้ด้วยความฉลาด
ที่ความผิดพลาดมันสอนให้เรา
ทุกครั้งที่เราทำผิดไปนั่นเอง"
กว่าจะรวมจิตใจเก็บทรายสวยๆมากอง ก่อปราสาทสักหลัง ก่อกำแพงประตู ก่อสะพานสร้างลำธารเป็นบทเพลงที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคขวากหนามหรือความผิดพลาดเกิดขึ้นเท่าไหร่ก็ยังมีพลังใจที่จะสู้ต่อ แต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า หากเริ่มต้นผิดหรือกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด มันก็มีผลทำให้ล้มเหลวหรือความสำเร็จต้องถูกเลื่อนเวลาออกไปได้ยาวนาน จนบั่นทอนจิตใจได้เหมือนกัน
ใช่เลยค่ะหลังจากหนูติดกระดุมเม็ดแรกผิดทำเอาเสียทรงมาหลายปี พอตั้งหลักปลดกระดุมโดยไม่ต้องถอดเสื้อทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นปรับกระบวนความคิดใหม่ เริ่มต้นกลัดกระดุมเม็ดแรกใหม่เดินทางบนถนนสายเดิมแต่ด้วยมุมมองใหม่ไม่นานก็พบว่ากลิ่นหอมของความสำเร็จก็เริ่มมาเยือน ทำให้งานประจำที่ทำก็ทำเงินและเสียภาษีอย่างถูกต้อง ส่วนงานอดิเรกที่ทำนอกเวลาก็เริ่มไปได้ด้วยดี ตัดสินใจขยายธุรกิจเต็มตัวตั้งใจว่าจะเปิดบริษัททำธุรกิจขนส่งสินค้าโดยจะใช้เงินสะสมที่มีมาลงทุนประมาณ 1.0 ล้านบาท และจะกู้เงินจากธนาคารในนามบุคคล เพื่อนำไปซื้อรถบรรทุกเลยอยากรู้ว่า ควรจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อซื้อรถในนามนิติบุคคลดีหรือว่าซื้อรถนามบุคคลธรรมดาดี
ซื้อรถบรรทุกในนามบริษัท
คำนวณค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ
หักเป็นรายจ่ายของกิจการได้
กระดุมเม็กแรกที่ต้องกลัดให้ถูกต้องก่อนคือ จะทำธุรกิจขนส่งในนามบริษัทหรือในนามบุคคลธรรมดา เพราะมันจะมีผลผูกพันไปหมด หากทำธุรกิจในนามนิติบุคคลแต่ไปซื้อรถบรรทุกในนามบุคคลธรรมดา มันก็จะผิดฝาผิดตัวกลายเป็นว่าต้องสร้างเหตุให้บริษัทเช่ารถบรรทุกจากบุคคลธรรมดา ทำให้บริษัทมีรายจ่ายเกี่ยวค่าเช่ารถบรรทุกและนำค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าน้ำมัน, ค่าซ่อมแซม, ค่าประกันภัยรถบรรทุก มาหักรายจ่ายได้ แต่ขณะเดียวกันบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของรถบรรทุกก็จะมีรายได้จากการให้เช่ารถบรรทุก ซึ่งต้องนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก จากที่จะทำธุรกิจแค่ขนส่งกลายเป็นต้องทำธุรกิจให้เช่ารถยนต์ไปอีก
โอละค่ะ อธิบายง่ายสั้นกระชับแต่รู้เรื่องในกระบวนท่าเดียว หนูจำได้ว่าพี่ปราบเคยอธิบายไว้แล้วว่าการทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้างและหนูว่าหนูได้คำตอบแล้วว่าน่าจะทำในนามนิติบุคคลดีกว่า เพราะเวลาเสียภาษีจะได้ไม่ต้องนำมารวมกับเงินเดือนที่หนูได้รับจากการทำงานอยู่ ฟันธงว่าหนูจะไปจดทะเบียนบริษัทให้เรียบร้อยก่อน แล้วซื้อรถบรรทุกในนามบริษัท
ปัญหาที่หนูยังคาใจอยู่คือการซื้อรถยนต์ครั้งนี้ จะกู้เงินจากพี่แบ๊งค์ เพื่อไปตัดสดกับบริษัทขายรถบรรทุก เพราะหนูคิดมาดีแล้วว่าดอกเบี้ยถูกกว่า แต่พี่แบ๊งค์บอกว่าประวัติหนูดี ให้กู้ในนามบุคคลดีกว่าดอกเบี้ยจะได้ต่ำหน่อย แบบนี้หนูกู้เงินได้มาแล้ว นำเงินกู้ยืมมาชำระเป็นทุนจดทะเบียนดีไหม ทุนจะได้ใหญ่โตด้วย จากนั้นก็นำเงินกู้ยืมที่กลายเป็นเงินลงทุนไปชำระเงินค่ารถบรรทุก
เงินให้กู้ยืมคิดดอกเบี้ยได้
เงินลงทุนต้องรอเงินปันผล
แปลงหนี้เป็นทุนได้แบบไม่ต้องจบปริญาโทหรือปริญญาเอกเลย ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปซื้อรถบรรทุกแต่พอได้เงินกู้ยืมเปลี่ยนความคิดนำเงินมาชำระเป็นค่าหุ้นของบริษัทก่อนนำไปชำระค่ารถบรรทุกทำให้ทุนของบริษัทใหญ่โตกว่า เงินส่วนตัวที่นำมาลงทุนสุดยอดแห่งความคิดจริงๆ มีเงิน 1 ล้านบาท กู้ยืมมาซื้อบรรทุกอีก 2 ล้านบาท กลายเป็นเงินลงทุนในบริษัททั้งหมด 3 ล้านบาท
ประเด็นที่น้องหญิงต้องพิจารณาคือ ตอนกู้ยืมเงินจากธนาคารเราต้องจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้นคืนตามระยะเวลาที่ตกลงกัน แต่พอนำเงินมาลงทุนในนามบริษัทจะชักเข้าชักออกหรือให้บริษัทจ่ายดอกเบี้ยหรือคืนเงินลงทุนให้น้องหญิง เพื่อนำไปคืนเงินกู้และดอกเบี้ยให้กับพี่แบ๊งค์มันทำไม่ได้นาคราบ เพราะการนำเงินมาลงทุนในบริษัทจะได้รับผลตอบแทนคือเงินปันผลต่อ เมื่อบริษัทมีกำไรเท่านั้นเท่ากับว่าเงินที่ลงทุนจะนอนแน่นิ่งจนกว่าจะมีกำไร ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับการที่น้องหญิงต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย เงินส่วนนี้น้องหญิงจะเอามาจากไหนก่อนจะไปยืมท่านพี่จะได้เงินมาไหม
ถ้าคิดแบบง่ายๆ หากจะให้กิจการจ่ายเงินคืนให้กับน้องหญิง เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ยให้กับธนาคารได้ น้องหญิงจะต้องนำเงินที่กู้มาจากพี่แบ๊งค์มาให้บริษัทกู้อีกทอด กำหนดให้จ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเท่ากับที่จ่ายให้กับพี่แบ๊งค์เป็นอย่างน้อย แบบนี้จะไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา หรือไม่ก็ต้องกำหนดเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าที่ปรึกษาหรืออื่นๆ ให้น้องหญิงเพื่อนำไปจ่ายแทน
จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
เลือกไม่นำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้
เงินเดือน, ค่าจ้าง, ค่าที่ปรึกษา
ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้
ถือเป็นผลข้างเคียงของการนำเงินกู้ยืมจากธนาคารมาชำระเป็นเงินค่าหุ้นก็ว่าได้ เพราะเมื่อน้องหญิงคิดดอกเบี้ยจากบริษัท เวลาบริษัทจ่ายดอกเบี้ยให้กับน้องหญิงจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอัตรา 15% แต่น้องหญิงสวยพอ ท่านพี่เลยให้เลือกว่าจะนำดอกเบี้ยไปรวมกับเงินได้อื่น เพื่อคำนวณภาษีหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนจากคิดดอกเบี้ยเป็นการจ่ายค่าจ้างแบบนี้ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่น เพื่อคำนวณภาษีแน่นอนน้องหญิงต้องเลือกเอาว่าแบบไหนได้ประโยชน์ประหยัดภาษีได้มากกว่า
เรื่องของการที่ต้องให้กรรมการกู้ยืมเงิน เพื่อนำมาให้บริษัทใช้จ่ายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ SME’s ที่จัดตั้งใหม่ทำให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบ ทำให้งบการเงินผิดพลาดคลาดเคลื่อน รวมถึงมีผลทำให้โดนประเมินเป็นอยู่บ่อยมีโอกาสจะหยิบมาเล่าให้น้องหญิงและท่านพี่ได้อ่านต่อ
|
รู้ก่อนลุย!
มาตรา 48 เงินได้พึงประเมินต้องเสียภาษีเงินได้ดังต่อไปนี้ (3) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษี ตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) และ (ช) ดังต่อไปนี้ (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงินที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชย กรรมหรืออุตสาหกรรม |
#เงินกู้ยืมกรรมการ #ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม #ซื้อรถยนต์ #ค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ #ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #ภาษีธุรกิจเฉพาะ #ภาษีหักณที่จ่าย #FinalTax
|