รู้ก่อนยื่น
วันที่เผชิญปัญหา
เราต้องการคนปลอบใจ หรือให้กำลังใจ
หรือต้องการคนบอกทางเพื่อชนะปัญหา
พี่ขาหนูติดตามอ่านเรื่องที่พี่เขียนใน FB มานานหลายปีต้องขอชมว่าขยันหมั่นเขียนจริงๆ และหนูก็ได้นำข้อมูลความรู้ที่ได้จากพี่มาใช้ในการเตรียมที่จะเริ่มทำธุรกิจมาพอสมควร พอวันนี้ได้เห็นได้เจอตัวเป็นๆ ขอเอาเรื่องของตัวเองมาสอบถามเพื่อให้เกิดความชัดเจนซะนิดนึงนะคะ
เป็นคำถามที่ได้รับผ่านช่องทางธรรมชาติ แฮ่ได้รับผ่านผู้รับเหมาตัวจริงเสียงจริงที่ติดต่อให้มาปะผุซ่อมแซมบ้านหลังน้อยบนหุบเขาเร้นลับที่สร้างไว้ เพื่อเป็นที่ลี้ภัยหลบหลีกเร้นจากความสับสนวุ่นวายในเมืองหลวงได้พักชมบรรยากาศบนหุบเขา ดูเมฆหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งไม่เร่งรีบไม่กังวลกับเวลาที่สวนทางกับอายุที่เหลือน้อยลงได้พักเพื่อเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำ ยังไม่ทันได้คิดอะไรต่อผู้รับเหมามือใหม่รายนี้ชิงลงมือถามต่อว่า
พึ่งมาทำรับเหมาต่อเติมบ้านเดือนที่ผ่านมาได้รับงานมูลค่าประมาณ 386,000 บาท จ่ายค่าจ้างทีมงานมารับเหมาช่วง 120,000 บาทซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง 169,000 บาท เหลือกำไรจริง 97,000 บาทพอให้ชื่นใจระหว่างนับเงินกำไรตาขวาก็กะตุกบ่อยๆเหมือนเป็นลางสังหรณ์ ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่าควรยื่นภาษีแบบไหนดีจะเตรียมตัวได้ถูกต้อง ปรึกษาหลายคนก็พูดกันหลายอย่างบ้างก็บอกว่ารับงานลูกค้าบุคคล หากไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายก็ไม่ต้องไปยื่นเสียภาษีอะไรหรอกสงบเสงี่ยมเจียมตัวไปไม่มีใครเค้ารู้หรอก แต่หนูรู้สึกว่าถ้าทำถูกต้องแล้วสบายใจกว่า ถ้าได้คำตอบที่ดีไม่ต้องเสียภาษีเยอะหนูจะได้เดินหน้า และใช้ภาษีที่ประหยัดได้มาเป็นส่วนลดค่าก่อสร้างให้พี่ปราบเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการตอบคำถามไปเรื่อยๆ
ตั้งใจว่าจะไม่ตอบ ปล่อยให้น้องเค้าหาทางออกตกผลึกกันเอาเองของแบบนี้ กรรมใครกรรมมัน หลบได้ถ้าไม่โดนจับก็รอดไป ถ้าให้ดีอย่าเฉียดกรายไปใกล้ที่ทำงานคุณสรรพ์ อาจจะทำให้ไม่สังเกตุเห็นก็ได้ แต่พอได้ยินว่าจะได้ส่วนลดพิเศษทำให้หัวใจอดพองโตไม่ได้ ไอ้ของที่กองอยู่เต็มบ้านจนเก่าเพราะเก็บก็เพราะไอ้โปรฯ ไอ้ส่วนลดนี่ละขยันซื้อกันจริง มาว่ากันต่อเกี่ยวกับข้อสงสัยของผู้รับเหมาสาวรายนี้
เงินได้จากการรับเหมา
เลือกหักรายจ่ายเป็นการเหมา
เลือกหักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร
เรียกว่าสวยเลือกได้แถมสวยด้วยมีโปรด้วยแบบนี้ ยิ่งมีสิทธิเลือกแน่นอน หากน้องเหมาเลือกหักรายจ่ายเป็นการเหมาจ่ายแบบนี้ ถือว่าง่ายและสะดวก น้องเหมาไม่ต้องสนใจเลยว่าจ่ายค่าผู้รับเหมาช่วงเท่าไหร่ จ่ายค่าวัสดุเท่าไหร่ ให้ดูแค่ว่าคุณสรรพ์ให้หักรายจ่ายเหมาได้เท่าไหร่ก็หักไปตามนั้น เหลือแค่ไหนก็ค่อยนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้จากการรับเหมา
หักรายจ่ายเป็นการเหมาได้ 60%
เมื่อได้รับเงินได้จากการรับเหมาก่อสร้าง 386,000 บาท นำมาหักรายจ่ายไปเลย 60% จะเหลือรายได้หลังหักรายจ่ายเท่ากับ 154,400 บาท ถ้ามีค่าลดหย่อนอะไรก็นำมาหักให้ครบที่เหลือก็นำไปคำนวณภาษีได้เท่าไหร่ก็ควักเงินจ่ายภาษี อย่าให้คุณสรรพ์มองค้อน ใครว่าภาษีเป็นเรื่องยากคุณสรรพ์ขอเถียง
น้องเหมาอย่าเพิ่งใจร้อนหลังจากผ่านด่านการหักรายจ่ายเป็นการเหมาและรู้แล้วว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ขั้นตอนต่อไปเราควรเปรียบเทียบว่า ถ้านำต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักแล้วจะเหลือกำไรหรือเงินได้พึงประเมินสุทธิที่ต้องไปเสียภาษีเท่าไหร่เรียกว่ารบร้อยครั้งเสียภาษีแบบประหยัดได้ร้อยหน
การหักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร
ต้องนำรายจ่ายเกี่ยวกับทรัพย์สิน
มาคำนวณค่าเสื่อมราคาและสึกหรอเพื่อหักเป็นรายจ่าย
นำต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำงาน
มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษี
เราสามารถนำรายจ่ายที่ได้จ่ายไปและเกี่ยวข้องกับการทำงานมาหักได้ทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขที่ต้องรู้ เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องคือรายจ่ายที่จ่ายไป หากเข้าเงื่อนไขสามารถใช้งานได้เกิน 1 ปี เช่น เครื่องมือ,เครื่องจักร, อุปกรณ์การทำงาน Notebook, PC, รถยนต์ จะต้องนำมาคำนวณค่าเสื่อมราคาและสึกหรอตามอายุการใช้งาน จากนั้นจึงนำค่าเสื่อมราคาและสึกหรอต่อปีมาหักเป็นรายจ่ายในแต่ละปี ส่วนรายจ่ายที่เกี่ยวกับการทำงานโดยตรงเช่นค่าจ้างผู้รับเหมา, ค่าวัสดุ อุปกรณ์ แบบนี้หักเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน
จากข้อมูลของน้องเหมารายจ่ายเกี่ยวทั้งหมด เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างไม่ได้มีการซื้อเครื่องจักร เครื่องมือ และทรัพย์สินใดๆเลย จึงนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งหมดทำให้มีกำไรหลังหักรายจ่ายเพียง 97,000 บาท แบบนี้ไม่ต้องให้ใครมาช่วยก็คงตอบได้ว่าหักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควรดีกว่าฟันธง
การหักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร
ต้องปฏิบัติตามแนวทางของนิติบุคคล
ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงิน ใบเสร็จรับเงิน
ใบรับเงิน, ใบโอนเงิน
ก่อนฟันธงและดำเนินการอะไร น้องเหมาต้องกลับมาทบทวนอีกนิดว่า รายจ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปมีหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการจ่ายเงินที่พิสูจน์ผู้รับเงินได้ครบถ้วนไหม หากรายการไหนไม่มีก็จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีไม่ได้ก็ค่อยๆ ตัดออกไปทีละชิ้น พอได้ข้อมูลครบถ้วนว่าหักได้เท่าไหร่ก็ลองคำนวณเปรียบเทียบอีกรอบ หากการจ่ายเงินค่าจ้างเหมา และซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างครั้งนี้พลาดพลั้งไปไม่ได้ขอใบเสร็จรับเงินหรือมีแต่น้อยมาก ทำให้หักรายจ่ายได้น้อยเสียภาษีสูงคงต้องเลือกหักรายจ่ายเป็นการเหมาไปก่อน ปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยแก้ตัวจ่ายเงินค่าอะไรร้องขอใบเสร็จรับเงินให้หมดจะได้นำมาหักรายจ่ายได้ครบถ้วนลดภาษีที่ไม่ควรเสียลงได้ ได้คำตอบแล้วครั้งนี้อาจจะไม่ประหยัดครั้งต่อไปประหยัดแน่ 10-20% น่าจะเป็นผลประโยชน์ที่ปราบน่าจะได้ในครั้งนี้นะครับฝากไว้ด้วย
รู้ก่อนลุย ! |
|
|
พระราชกฤษฏีกา ฉบับที่ 11 ค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน มาตรา 7 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่าย เป็นการเหมาร้อยละ 60 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้น ปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์
#เงินได้จากการรับเหมา #เงินได้ตามมาตรา40(7) #รับเหมาก่อสร้าง #ภาษีเงินได้หักณที่จ่าย #บุคคลธรรมดา #หักรายจ่ายเป็นการเหมา #หักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร #ม.65ทวิ #ม.65ตรี #ใบเสร็จรับเงิน #ค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ |