รับก่อนจ่ายทีหลัง
"อะไรปล่อยได้ก็ปล่อย
อะไรทิ้งได้ก็ทิ้ง
อะไรอภัยได้ก็อภัย
อะไรลืมได้ก็ลืมเสียเถอะ"
ปีนึงมี 2 วันวันที่ยื่นภาษีกลางปีกับวันที่ยื่นภาษีปลายปีเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาษีที่ผมจำขึ้นใจ เพราะเวลาต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าปรับ มันจำได้ไม่รู้ลืมทำให้ต้องหันมาใส่ใจถามหาสาเหตุว่าทำไมถึงถูกปรับ เรียกว่าล้อมคอกกันวัวหรือวัวหายล้อมคอกก็ได้ หลงไว้เนื้อเชื่อใจน้องชีที่ดูแลเรามาตลอด
เมื่อรู้สึกตัวก็สายเสียแล้วจะไปโทษน้องชีฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะหลังจากไล่เรียงสอบถามสาเหตุที่ต้องโดนปรับในอดีตที่ผ่านมา จำได้ว่าน้องเค้าก็นำข้อมูลมาให้ดูว่า ครึ่งปีผ่านไปมีรายได้ต้นทุนและกำไรเท่าไหร่ น้องชีหว่านล้อมออดอ้อนขอข้อมูลว่า จากนี้ไปจนถึงปลายปีจะได้รับงานใหม่อะไรบ้าง คาดว่าจะมีรายได้และต้นทุนที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง น้องจะได้นำมาทำประมาณการเพื่อนำไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ครึ่งปีหรือที่เค้าเรียกกันว่า ภงด. 51 แต่ผมก็ไม่ได้นำพายังพาลคิดไปด้วยว่าน้องชีจะมายุ่งวุ่นวายอะไรเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจสงสัยจะหาข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการขึ้นค่าตัวแน่เลย
วันที่ไม่ได้รอ พ.ศ. ที่จำได้ดี เพราะโดนคุณสรรพ์เรียกพบให้ไปจ่ายชำระภาษีและเงินเพิ่ม เนื่องจากประมาณการขาดไปเกิน 25% ทำให้ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่ชำระไว้ต่ำเกินไป จ่ายภาษีครึ่งปีขาดไปเท่าไหร่ก็จ่ายเพิ่มรวมค่าปรับอีก 20% นาทีนั้นรู้เลยว่าทำไมน้องชีถึงอยากได้ข้อมูลว่าทั้งปีจะมีรายได้ ต้นทุน และกำไรเท่าไหร่ จากที่บอกไปมั่วไม่ได้ใส่ใจกลายเป็นจำได้ขึ้นใจเลย
พอมาปีนี้ตั้งใจจะเตรียมให้ปากคำน้องชี เพื่อนำไปทำประมาณการและเสียภาษีให้ถูกต้องจะได้ไม่ต้องปวดใจอีกรอบ แต่ปัญหาคือปีนี้ได้รับเงินล่วงหน้ามา 10 ล้านบาทมาจากลูกค้า และทยอยส่งสินค้าไปเรื่อยๆ คาดว่าจนถึงปลายปีจะส่งสินค้าได้แค่ 5 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็จะทยอยส่งให้ต่อในปีหน้า ปัญหาของผมตอนที่เตรียมข้อมูลให้น้องเพื่อนำไปยื่น ภงด.51 จะต้องประเมินว่าเรามีรายได้รายได้ 5 หรือ 10 ล้านบาท
การขายสินค้า
รับรู้รายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้
เมื่อส่งมอบสินค้าหรือโอนกรรมสิทธิ์
ไม่ว่าจะได้รับชำระเงินค่าสินค้าหรือไม่
ภาษีมีหลายฉบับต้องหยิบนำมาใช้ให้ถูกต้อง หากเป็นเรื่องของพี่แวดเมื่อส่งสินค้าปุ๊บ VAT เกิดปั๊บ หรือถ้ารับเงินมาก่อนส่งสินค้า VAT ก็เกิดตอนที่รับเงิน เรียกว่าอะไรเกิดก่อน VAT เกิดตาม แต่เรื่องการรับรู้รายได้ เพื่อนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลพี่ชีกับคุณสรรพ์เค้ามีความเห็นตรงกันว่าให้รับรู้เมื่อส่งมอบสินค้าหรือโอนกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะได้รับเงินหรือยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้า หากรับรู้รายได้จากการขายสินค้าไปแล้วลูกค้าเบี้ยวไม่ชำระค่าสินค้า ค่อยไปว่ากันอีกเรื่องแยกกันไป คุณสรรพ์ไม่ไปยุ่งไม่ไปเกี่ยวกับการทวงหนี้ด้วยลำพังทวงหนี้จากผู้เสียภาษีงานก็ล้นมืออยู่แล้ว
ส่งมอบสินค้ายังไม่ได้รับเงิน
เป็นรายได้และลูกหนี้การค้า
ได้รับเงินค่าสินค้าโดยยังไม่ส่งมอบสินค้า
ไม่เป็นรายได้แต่เป็นหนี้สินเงินรับล่วงหน้า
เงินที่ได้รับก่อนที่กิจการจะส่งมอบสินค้าไม่ว่าจะเรียกชื่อว่า เงินจอง, เงินมัดจำ, เงินรับล่วงหน้า จะบันทึกไว้เป็นหนี้สินของกิจการเฮียเรียบร้อยในชื่อบัญชีว่า เงินรับล่วงหน้าค่าสินค้า เฮียส่งสินค้าไปเท่าไหร่ก็จะทยอยตัดยอดออกตามมูลค่าที่นำส่งและรับรู้เป็นรายได้ ยอดเงินรับล่วงหน้าที่เหลือในงบการเงินแสดงว่าเฮียยังไม่ส่งมอบสินค้าจะเบี้ยวไม่ได้
ผมฟังตอนแรกว่าไม่งงแต่พอฟังไปเรื่อยๆ เริ่มงง พองงก็เริ่มจะไม่เข้าใจ ขอพักเบรกแค่นี้ก่อน เอาเป็นว่าตอนผมประมาณการให้ผม นำแค่ยอดที่คิดว่าจะส่งสินค้าได้มาเป็นรายได้ซึ่งในเคสนี้คือ 5.0 ล้านบาท ถ้าจะเผื่อเหลือเผื่อขาดว่าทีมงานผลิตสินค้าได้เร็วกว่าที่คิด ส่งสินค้าได้มากกว่าที่คาด ก็เผื่อไว้ว่าจะส่งสินค้าได้ 6 – 7 ล้านบาทก็ว่ากันไป จำได้ขึ้นใจว่าประมาณการเกินดีกว่าประมาณการขาด แต่เกินมากไปก็ไม่ดีเพราะหมายถึงเงินในกระเป๋าก็จะขาดหายไปเยอะ ภาษีไม่ใช่เรื่องยากแต่การหาเงินมาจ่ายภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ยากกว่าเยอะ ว่าแต่ปราบมีสัก 50,000 บาทไหมขอยืมไปจ่ายค่าปรับหน่อย
|
รู้ก่อนลุย!
มาตรา65 การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคหนึ่งให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น |
#ขายสินค้า #ลูกหนี้การค้า #ภาษีมูลค่าเพิ่ม #เงินรับล่วงหน้า #ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #หนี้สูญ #เงินมัดจำ #เงินจอง |