นับขาดนับเกิน
"เรื่องราวในอดีต
สามารถย้อนกลับมาทำร้ายเราได้
ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะวิ่งหนีอดีต
หรือเรียนรู้จากมัน"
วันนี้นับขาดพรุ่งนี้นับเกินไม่มีแม้สักวันที่จะนับได้ตรง พอขาดก็ขอตัดออกพอเกินก็ขอรับเข้า สุดท้ายแล้วสินค้ามีคงเหลือเท่าไหร่ก็มึนก็ไปหมด วันก่อนเห็นน้องบอกว่าคุณสรรพ์จะเข้าเยี่ยมและอาจจะขอมาดูคลังสินค้าด้วย ถ้าคุณสรรพ์ขอร่วมด้วยช่วยกันตรวจนับพบว่าขาดและเกินแบบนี้ จะมีผลกระทบอะไรบ้างขอตัวช่วยด่วน
วันสองวันนี้ได้เห็นข้อความเกี่ยวกับเรื่องสินค้าคงเหลือที่ลุกลามบานปลายจะนำไปสู่การเป็นคนไม่มีเงินเหลืออันเป็นผลข้างเคียงจากการถูกตรวจประเมิน เรื่องแบบนี้พิษสงมันร้ายใครไม่เคยโดนคงไม่รู้แต่ก่อนจะไปกังวลว่าจะโดนอะไรมาหาสาเหตุกันก่อนดีกว่าที่สินค้าขาดและเกิน เกิดเพราะอะไรจะได้หาทางแก้ไขก่อน
การขายสินค้า
ออกใบกำกับภาษีขาย
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทุกครั้งไหม
หากคำตอบคือ ลูกค้าผู้ซื้อไม่ขอใบกำกับภาษีก็ไม่ได้ออก หากขอใบกำกับภาษีถึงจะออก ยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูว่าสัดส่วนการขายแบบไม่ออกใบกำกับภาษีมีมากกว่าการขายแบบออกใบกำกับภาษีสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สินค้าในรายงานสินค้าคงเหลือมีมากกว่าสินค้าที่กองอยู่ในโกดังยิ่งมาก เป็นมานานกองสินค้าที่แตกต่างกันก็จะมากขึ้น
ทำไมเป็นอย่างนี้ไปได้ละครับอาจารย์ เพราะไม่ว่าลูกค้าจะออกใบกำกับภาษีหรือไม่ผมก็ส่งสินค้าให้ลูกค้าทุกครั้งเพราะถ้าไม่ได้ส่งลูกค้าก็คงไม่จ่ายตังค์ สินค้าคงเหลือที่มีในโกดังก็ต้องตรงกับความเป็นจริงสิครับ เป็นเสียงของเฮียข้างบ้านคนเดิมที่ดังมาแต่ไกลทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคำถามใน Social ที่โผล่มาให้อ่านน่าจะเป็นของแกอย่างแน่นอน ไม่อยากไปปรักปรำหรือกล่าวโทษให้เสียเวลาตอบคำถาม เพราะทันที่ส่งเสียงเสร็จแกก็โผล่มาอยู่ตรงหน้ามองตาแป๋วราวกับจะรอคำตอบ
เฮียลองนึกดูนะถ้าเฮียขายสินค้าไป 10 ชิ้นแต่เปิดใบกำกับภาษีไปให้ลูกค้า 5 ชิ้น เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและก็เบิกสินค้า เพื่อไปขาย 5 ชิ้น ส่วนอีก 5 ชิ้น แม้จะส่งมอบสินค้าจริง แต่เมื่อไม่ได้เปิดใบกำกับภาษีให้ลูกค้า ก็แสดงว่าไม่ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้รับรู้รายได้ จะตัดเบิกสินค้าจากระบบไปอีก 5 ชิ้นก็ทำไม่ได้ เท่ากับว่าสินค้าหายไป 10 ชิ้นแต่ตัดเบิกสินค้าไปเป็นต้นทุนได้ 5 ชิ้น ยกแรกสินค้าคงเหลือตามรายงานหรือสินค้าคงเหลือจากการตรวจนับ ก็จะน้อยกกว่ารายงานสินค้าคงเหลือของกิจการไป 5 ชิ้นที่เค้าเรียกว่าสินค้าขาดรายงาน
สินค้าขาดรายงาน
นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
จากราคาขายสินค้าตามราคาตลาด
เบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ
ภาษีเบี้ยปรับเงินเพิ่มก็เป็นเรื่องนึง แต่พอสินค้าตามรายงานหรือการตรวจนับไม่ตรงกับสินค้าที่มีอยู่จริง เพราะเหตุจากการขายนอกระบบมันก็จะทำให้เกิดความประมาท คิดว่าตรวจนับไปก็ไม่ตรงพอไม่ตรงก็ไม่ได้เกิดความใส่ใจที่จะหาสาเหตุของความผิดพลาดนำมาปรับปรุงและแก้ไข ถ้าสินค้าขาดไปเกินกว่าที่นำไปขายนอกระบบก็คงไม่มีใครรู้
ยิ่งถ้าเฮียซื้อสินค้ามาจากร้านค้าที่ไม่ออกใบกำกับภาษีให้ด้วย เรียกว่าผสมโรงไป ทั้งขายไม่ออกใบกำกับภาษี พอถึงตอนซื้อก็เสียดายไม่อยากจ่ายภาษีซื้อเลยขอซื้อสินค้าแต่ไม่เอาใบกำกับภาษีอีก แบบนี้ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องรับสินค้าที่ไม่มีหลักฐานการซื้อเข้าคลังสินค้าจริง แต่บันทึกเข้าระบบไม่ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากความตั้งใจว่าจะซื้อสินค้าที่ไม่มีใบกำกับภาษีมากลบกับสินค้าที่ขายออกไปโดยไม่ออกใบกำกับภาษีอีแบบนี้ ก็จะทำให้สินค้าส่วนนี้มีมากกว่ารายงานสินค้าคงเหลือ ถ้าเฮียเอาใจใส่กำกับให้น้องบริหารจัดการทั้งสองด้านให้ดี ก็อาจจะทำให้สินค้าเกลื่อนกลืนกันหักกลบลบพอดี
แต่จากการที่การตรวจนับบางครั้งพบว่า สินค้าเกินรายงานแปลว่า มีการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องการใบกำกับภาษีมามากกกว่าสินค้าที่ขายไปโดยไม่ออกใบกำกับภาษีเกิดเหตุที่เรียกว่า สินค้าเกินรายงาน
สินค้าเกินรายงาน
ปรับปรุงสินค้าที่เกินรายงานเข้าระบบ
ราคาสินค้าที่นำเข้า 0 บาท
สินค้าทั้งขาดทั้งเกิน หากเกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้ รวมถึงมีการควบคุมที่ไม่ดีพอ อาจจะมีสินค้าบางส่วนหายไป โดยที่เงินไม่ได้เข้ากระเป๋าของเฮียหรือของกิจการก็เป็นไปได้อันนี้ยิ่งน่ากลัวกว่า ค่าปรับของคุณสรรพ์เสียอีก
ตบท้ายให้เฮียย้อนกลับไปดูงบการเงินที่เคยมีปัญหาลูกหนี้การค้าว่า รายการขายที่ไม่ได้ออกใบกำกับภาษีมันอาจจะวกกลับมาที่ เจ้าหนี้เงินให้กู้ยืมกรรมการในงบการเงินได้อีกเรื่องนึง ซึ่งก็ถือว่าเป็นปัญหาและมีผลกระทบกับกิจการไม่ต่างกัน ..มีโอกาสเฮียค่อยล้อมวงมานั่งฟังกันนะ
|
รู้ก่อนลุย!!
มาตรา 77/1 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น (8) “ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้าไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง (จ) มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง |
#ขายไม่ออกใบกำกับภาษี #สินค้าขาดรายงาน #สินค้าเกินรายงาน #ซื้อสินค้าไม่เอาใบกำกับภาษี #ภาษีมูลค่าเพิ่ม #เบี้ยปรับ #เงินเพิ่ม #การบริหารสินค้าคงคลัง |