รับเหมาหักเหมา
"เมื่อใดยึดถือ
เมื่อนั้นเป็นทุกข์
เมื่อใดไม่ยึดถือ
เมื่อนั้นก็ไม่เป็นทุกข์"
สร้างบ้านให้ผู้หลักผู้ใหญ่มาก็มากมายทั้งลูกท่านหลานเธอก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร พอมารับงานเพื่อน เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนกันคิดราคาก็ถูกแสนถูก ถึงเวลาเบิกเงินค่างวดนอกจากจะได้เงินช้ายังไม่พอถึงเวลารับเงินจริงกลับถูกหักค่าหัวคิวไปอีก กลับได้คำตอบว่าคุณสรรพ์เค้าสั่งให้หักถ้าไม่สั่งก็ไม่หักหรอก
ผู้จ่ายเงินค่าจ้างทำของ และค่าบริการ
ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
ทุกครั้งที่จ่ายชำระ
เป็นคำสั่งเสีย เอ๊ย!เป็นเอกสารที่เพื่อนยัดมาให้อ่าน เพื่อยืนยันเจตนาอันบริสุทธิ์ ระหว่างยืนงงในวงแชร์เพราะเพื่อนเล่นมาจ่ายเงินกลางวงแชร์ เพื่อนก็เอ่ยปากบอกต่อว่าบอกแล้วว่าให้แยกเป็น 2 งานคือ ขายวัสดุกับรับเหมาก่อสร้าง ถ้าทำแบบนี้ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายน้อยหน่อยแต่ก็ไม่เชื่อเลยต้องโดนแบบนี้ละ แต่ไม่ต้องห่วงนะ ผมตกลงกับคุณสรรพ์ไว้แล้วว่า เวลาเพื่อนไปยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ให้เพลามือตรวจแบบเบามือหน่อย คืนได้ก็คืน แต่ถ้าคืนไม่ได้ก็กินรวบไป 555
เพื่อนหวังดีหรือดีใจที่ได้หักภาษีเราอันนี้ไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่สงสัยคือเราแยกบิลเป็นการขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างกับแยกบิลค่ารับเหมาได้จริงหรือ เพราะเคยได้ยินมาว่าทำได้ถ้าไม่โดนตรวจเพราะโดนเมื่อไหร่ เจ๊งมากกว่าเจ๊า!
ขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง
เป็นการซื้อขาย
ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
ถ้าเฮียแยกบิลเป็น 2 เรื่อง ตามที่ถามมา สำหรับบิลที่ระบุว่าขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างถือเป็นการขายสินค้าผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จริงอย่างที่เพื่อนเฮียว่านั่นแหละ เพื่อนเฮียจะมีสิทธิหักได้เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างเท่านั้น แต่เดี๋ยวก่อน! ก่อนที่จะทำตามที่เพื่อนเฮียแนะนำ ย้อนกลับไปดูก่อนไหมว่า ข้อตกลงระหว่างเฮียกับเพื่อนเป็นอย่างไร ตกลงว่าจะจ่ายเงินให้เมื่อสร้างบ้านเสร็จหรือเมื่อก่อสร้างตามสัญญาเสร็จตามงวดงานที่กำหนด โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดตามความสำเร็จของงาน หรือว่าแค่เอาของมาส่งมาวางไว้หน้างานครบจำนวนที่สั่ง ก็รับเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ไปได้เลย ส่วนงานก่อสร้างทำเมื่อไหร่เสร็จตามที่ตกลงกัน ก็จ่ายตามมูลค่าก่อสร้างที่ตกลงแยกส่วนกันไว้ เอาให้แน่นอนเพราะ เมื่อเหตุเปลี่ยนผลก็เปลี่ยน
ถ้าให้เดาก็ต้องบอกว่าเป็นอย่างแรก เพราะเพื่อนเฮียจ้างให้สร้างบ้านเพื่อนำไปขายให้กับลูกค้า สาระสำคัญที่อยากได้คือได้บ้านที่สร้างเสร็จ เมื่อเป็นแบบนี้การจะแยกค่าของกับค่าแรงโดยการแยกบิลอย่างไรก็ไม่มีผล เพราะถือเป็นการจ้างตามสัญญาจ้างทำของที่มุ่งความสำเร็จของงาน
ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
ทั้งค่าแรงและค่าของ
ทำไปทำมาไม่น่าจะเป็นเรื่องร้อนใจของเฮียละ น่าจะเป็นเรื่องร้อนใจของเพื่อนเฮียซะมากกว่า เพราะถ้ามาแนวนี้ เกิดผู้รับเหมารายอื่นรับลูกค้าแยกบิลค่าของและค่าแรงเพื่อนเฮียไปหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% จากค่าแรงเท่ากับจะโดนข้อหารือหักภาษีโดยประมาท เอ๊ย! หักภาษี ณ ที่จ่ายขาด โทษเบาะๆ ก็ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% ส่วนที่ขาดเพิ่ม พร้อมกับจ่ายชำระดอกเบี้ย เอ๊ย! เงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ทางรอดน่าจะหาที่ปรึกษาดีที่ไม่ฟรีมาช่วยค้ำดวงน่าจะดีไม่น้อย
รู้ก่อนลุย ! |
|
|
ปพพ มาตรา 587 สัญญาจ้างทำของไว้ก็คือ เป็นสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "ผู้รับจ้าง" ตกลงจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ผู้ว่าจ้าง" และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น สัญญาจ้างทำของนั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนเช่นเดียวกันกับสัญญาจ้างทำของ กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของนั้นเป็นสัญญาที่ต้องมีการตอบแทนซึ่งกันและกัน การตอบแทนซึ่งกันและกันของสัญญานี้คือ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานจนสำเร็จเพื่อแลกกับสินจ้าง ส่วนผู้ว่าจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของผู้รับจ้าง
#รับเหมาก่อสร้าง #ขายอสังหาริมทรัพย์ #สัญญาจ้างทำของ #ภาษีเงินได้หักณที่จ่าย #ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง #แยกค่าของค่าแรง #มุ่งความสำเร็จของงานที่จ้าง #เบี้ยปรับ #เงินเพิ่ม |