โอนเงินเข้าไทย
ชีวิตคนเรามีได้มีเสีย
มีทั้งได้เลือกและต้องล้มเลิก
โลกล้อมประเทศคุณสรรพ์ล้อมเราจริงครับ เพราะก่อนนั้นฉันยังจำได้เยาว์วัยฉันยังเล็กอยู่ตอนเด็กจำได้ว่า ถ้ามีเงินได้ในต่างประเทศ แต่ไม่ได้นำเงินได้จำนวนนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกัน จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้คุณสรรพ์แม้สักบาท ไม่ว่าจะอยากเสียภาษีแค่ไหนก็เสียไม่ได้ เพราะกฎหมายบอกว่าไม่ต้องเสียในฐานะพลเมืองดีที่ไม่อยากทำผิดกฎหมาย ผมก็เลยต้องยอมกล้ำกลืนไม่เสียภาษีทั้งน้ำตา
แต่มาวันหนึ่งวันนี้เมฆหมอกที่ร้าย แฮ่..คุณสรรพ์แกเปลี่ยนกฎกติกามารยาท โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ทุกคนเสียภาษีโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งอันนี้ผมยังไม่ค่อยเห็นด้วยว่าจะทำให้เท่าเทียมกันได้จริงเพราะฝรั่งเจ้าของบันไดริมชายหาดที่เป็นข่าวช่วงนี้...ก็ไม่น่าเสียภาษี สาวสองชาวปินส์ที่สร้างเหตุสงครามกลางสุขุมวิท11..ก็ไม่น่าจะเสียภาษี เช่นเดียวกับผมที่ได้รับเงินจากต่างประเทศก็ต้องเสียภาษีที่ต่างประเทศไปแล้วดอกนึง พอโอนเงินกลับมาในประเทศ เพื่อนำมาใช้จ่ายในประเทศ ทำให้เงินใด้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจยังต้องเสียภาษีอีกดอกนึง แต่ที่ผมส่งคำถามมาให้วันนี้ไม่มีอะไรมาก แค่อยากยืนยันว่าต้องเสียภาษีจริงไหม?
เรื่องของเรื่องคือ พ่อผมไปแอบคุณแม่มีพอร์ตลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ มารู้เอาปีนี้ ที่มีการขายหุ้นไปแล้วได้เงินกลับมาประมาณ 50 ล้านบาทไม่อยากถามเหมือนกันว่า คุณแม่รู้มาได้อย่างไรกลัวจะมีสงครามอีกยก เพราะเหตุที่ความแตกหรือเปล่า ไม่อยากเดา คุณแม่เลยลงโทษด้วยการให้โอนทั้งต้นและดอกให้ผมแทน จะได้เอาไปทำทุนสร้างอนาคตต่อ เลยอยากรู้ว่าคุณสรรพ์จะรู้ไหมครับ แล้วผมจะเสียภาษีไหมครับ และถ้าต้องเสีย ใครเสียผม? หรือพ่อ?
ตั้งคำถามผิด..ชีวิตก็เปลี่ยน ทำให้คนตอบตั้งกลับมาตั้งคำถามกันใหม่ เพราะคำถามเดียวแต่มันมีคำถามย่อยอยู่ในเรื่องนั้น ถือเป็นอีกเรื่องที่คนมักหลุดมักพลาด เนื่องจากคนให้ข้อมูลเพื่อให้ตอบคำถามมักจะโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ บางทีลืมสาระสำคัญไป อย่างเรื่องของคุณลูกบังเกิดเกล้าท่านนี้ ถ้าให้ข้อมูลแค่ว่าได้รับเงินได้จากต่างประเทศปีนี้ และจะนำกลับมาประเทศไทยในอีก 2 ปีหน้า จะเสียภาษีไหมก็คงให้คำตอบแค่ว่า ได้หรือเสีย เอ๊ย!..เสียภาษีหรือไม่เสีย แต่คำถามนี้มีประเด็นต้องขบคิด 2 เรื่องคือ
พ่ออยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป
นำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย
ต้องเสียภาษีเงินได้ไหม
พ่อให้เงินลูก 50 ล้านเป็นการให้โดยเสน่หา
ต้องเสียภาษีเงินได้จากการรับให้ไหม
เดี๋ยวนะพี่ปราบ พ่อให้ลูกต้องเสียภาษีเงินได้ด้วยเหรอ ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย ขู่ให้กลัวแล้วจะตบทรัพย์ ด้วยการเรียกเก็บค่าที่ปรึกษาหรือเปล่า ถ้าผมให้คนนำเงินใส่ถุงดำไปให้แล้ว อย่าเอาไปโยนทิ้งนะ เดี๋ยวจะเคืองกันเปล่าๆ
ปรึกษาฟรีไม่พอ จะยัดข้อหาให้อีก มัวแต่ไปร่ำเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ ภาษีไทยเค้าจัดเก็บอย่างไรไม่ได้ติดตามกันเลยแบบนี้ โดนภาษีกินหมดจะหาว่าไม่เตือนไม่ได้นะ ของฟรีไม่มีในโลกและของดีไม่มีถูก ถ้าให้กันแบบใส่ถุงดำไปแขวนหน้าประตู แม้จะไม่มีภาษีแต่อาจจะมีคดีติดตามมาก็ได้ เขียนเยอะเริ่มเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ คุณสรรพ์เค้าบอกไว้อย่างน่าฟังว่า
ได้รับเงินจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุตร
ได้รับยกเว้นสำหรับส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี
ได้รับเงินจากการให้โดยเสน่หาจากผู้อื่น
ได้รับยกเว้นสำหรับส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี
คนให้ก็อยากให้..คนรับก็อยากรับ คุณสรรพ์ไม่ว่า แต่ถ้าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดส่วนที่เกินต้องเสียภาษีเงินได้อัตรา 5% นะจ๊ะอย่าลืม
งานนี้ถ้าคุณพ่อบอกคุณแม่ว่าเพื่อประหยัดภาษีเงินได้ ควรอนุญาตให้พ่อไปนอกโลก เอ๊ย!..นอกประเทศ ไปกลับอย่างไรก็ได้ขอแค่ว่าอยู่ในไทยไม่ถึง 180 วันแบบนี้โอนเงินกำไรกลับเข้ามาเมื่อไหร่ คุณสรรพ์จะไม่เกี่ยวไม่ข้องเลย อย่าได้คิดสงสัยหรือตั้งคำถามว่าคุณสรรพ์จะรู้ได้อย่างไรว่า นำเงินเข้ามาปีไหนห่วงแค่ว่าถ้าคุณสรรพ์รู้ว่านำเงินเข้ามาแต่ไม่ได้เสียภาษีจะเป็นอย่างไรดีกว่า ดูอย่างพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายที่ต้องตบเท้าเรียงหน้าเข้าให้ข้อมูลจากการที่มีเงินไหลเข้าบัญชี 400 รายการ และ 2.0 ล้านบาทต่อปี ก็น่าจะเห็นภาพว่าข้อมูลไหลเข้าไปที่คุณสรรพ์ได้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าจะเรียกเราไปเบิกความเมื่อไหร่ เค้าถึงว่าทำผิดอย่าเผลอเจอดีแน่
|
รู้ก่อนลุย!! มาตรา 41 ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้น จะจ่ายในหรือนอกประเทศ ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย |
#รายจ่ายเพื่อการลงทุน #ทรัพย์สิน #ซื้อรถยนต์ #ค่าเสื่อมราคาและสึกหรอ #ภาษีเงินได้นิติบุคคล #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #หักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร #ทรัพย์สินอื่น #อายุการใช้งาน |