นายหน้าเสียเท่าไหร่
"เราเอาเวลาไปแลกงาน เอางานไปแลกเงิน
แต่เราเอาเงินไปแลกเวลาคืนกลับมาไม่ได้"
ภาษีเหมือนเป็นเรื่องต้องห้ามของหลายคนยุ่งยากเข้าใจยากและไม่อยากยุ่งเกี่ยว แต่ภาษีกลับเป็นเรื่องราวที่ใกล้ชิดกับเราจนคาดไม่ถึงกว่าจะรู้ตัวก็มักจะลงท้ายด้วยการถูกประเมินให้ชำระภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม อานุภาพของมันรุนแรงแตกต่างกันไปบางรายทุรนทุราย ถึงขนาดว่าจะขอไม่มีเงินได้อีกเลยจะได้ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องราวของภาษี
ถ้าโลกหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหวคุณสรรพ์ไม่ปรับกลยุทธ์เสริมเครื่องไม้เครื่องมือ เหล่าผู้เสียภาษีอย่างพวกเราคงนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นได้ ยิ่งถ้ามีรายได้แล้วคิดจะหลบซ่อนหลงลืม คุณสรรพ์อาจจะไม่ลืมกับเราด้วย เพราะหน่วยงานต่างๆพร้อมใจกันส่งข้อมูลให้ตามที่คุณสรรพ์ร้อง คออย่างเช่นพี่แบ๊งค์จะคอยสำรวจว่าภายใน 1 ปี หากข้อมูลเงินในบัญชีของเราตรงตามเงื่อนไขที่คุณสรรพ์กำหนด จะส่งข้อมูลให้โดยไม่อิดออด
เงินเข้าบัญชี 400 รายการและยอดเงิน 2.0 ล้านบาท
เงินเข้ารวม 3,000 รายการ
เข้าใจเลยครับแต่พยายามอ่านทำความเข้าใจอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ปีนี้เริ่มมีเงินได้เป็นกอบเป็นกำพยายามกำกับให้เงินเข้าบัญชีไม่ให้เกิน 200 รายการและ 2.0 ล้านบาทเพื่อไม่ให้ถูกรายงาน ซึ่งก็ทำได้สำเร็จคิดว่าจะรอดที่ไหนได้คนจ่ายเงินบอกว่าได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้ง หนังสือรับรองก็ออกให้แล้ว อย่าลืมนำไปยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีนี้ด้วยนะ ถึงตอนนี้รู้ตัวว่าไม่รอดแน่ ผมเลยอยากรู้ว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่
ค่าคอม 450,000 บาท
ไม่จดทะเบียนสมรส
มีบุตร 2 คน 16 ปี และ 6 ขวบ
แม่ไม่มีรายได้อายุ 60+
พ่อได้รับเงินเดือนแสนอัพ
เสียภาษีเท่าไรครับ
ถ้าตอบเลยก็จะไม่รู้ว่า คุณสรรพ์ท่านกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณอย่างไร พอปีหน้าและปีต่อไปก็ต้องหาใครมาช่วยคำนวณอีกเลยต้องอธิบายให้เข้าใจกันหน่อยอย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นให้นำไปศึกษาต่อว่าเงินได้มี 8 ประเภทใหญ่เราต้องรู้ก่อนว่าเงินได้เราอยู่ในกลุ่มไหนประเภทไหน เมื่อรู้ประเภทรายได้ก็จะรู้ว่าหักรายจ่ายแบบเหมาจ่ายตาม % ที่กำหนดอย่างเดียวหรือเลือกหักรายจ่ายตามความจำเป็น และสมควรได้ด้วย
ค่านายหน้าเป็นเงินได้มาตรา 40 (2)
หักรายจ่ายเหมาได้อย่างเดียว
อัตรา 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
หักได้เท่าไหร่ ตั้งพักไว้ในใจมาดูต่อว่า อันตัวเราเองสามารถหักค่าลดหย่อนอะไรได้บ้าง ที่แน่ๆก็หักลดหย่อนผู้มีเงินได้, หักลดหย่อนคู่สมรส, หักค่าลดหย่อนบุตร, หักค่าอุปการะบิดามารดา และอีกหลากหลายรายการ คุณสรรพ์ไม่ให้หักตามอำเภอใจแน่ ต้องหักได้ตามเงื่อนไขและจำนวนที่กำหนดตรงนี้ ผู้มีเงินได้ทั้งหลายต้องลงรายละเอียดทำการบ้านกันหน่อยจะได้เสียภาษีได้อย่างมีความสุข
ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนบุตรเกิดก่อนปี 2561 คนละ 30,000 บาท
ค่าลดหย่อนบุตรเกิดตั้งแต่ปี 2561 คนละ 60,000 บาท
ค่าอุปการะบิดา มารดาอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท
ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
ให้หักแล้วหักอีกยังไม่พอ คุณสรรพ์ยังยกเว้นให้อีก 150,000 ไม่ต้องเสียภาษี เหลือเท่าไหร่ค่อยนำไปคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า 5- 37 % อธิบายมาจนเหนื่อย ถ้ายังคำนวณไม่ได้ส่งเมล์มาอีกรอบจะได้ส่งใบแจ้งหนี้ค่าบริการไปให้ เผื่อว่าพอต้องจ่ายค่าบริการจะคิดได้เองตามธรรมชาติ
|
รู้ก่อนลุย!!
มาตรา 47 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีก ดังต่อไปนี้ (1) ลดหย่อนให้สำหรับ (ก) ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท (ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท (ค) บุตร (ญ) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละสามหมื่นบาท โดยบุคคลดังกล่าวต้องมีอายุหกสิบปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
|
#หักรายจ่ายเป็นการเหมา #หักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร #เงินได้พึงประเมิน #ค่าลดหย่อน #ภาษีอัตราก้าวหน้า #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา #หักลดหย่อนคู่สมรส #หักค่าลดหย่อนบุตร #หักค่าอุปการะบิดามารดา |