กล้าเช่า(ต้อง)กล้าจ่าย
ให้เช่าไม่มีเศร้า
ถ้าเสียภาษีถูกต้อง
เราเลือกได้ว่าจะทำ
ถูกต้องหรือถูกใจ
บ้านน้อยหลังนี้สุขีเสียจริง ปลูกไว้สมใจทุกสิ่ง อยู่อาศัยก็ได้ให้เช่าก็ได้ แบบนี้เห็นทีจะต้องไปบอก ภรรยาว่าขอมีหลายบ้านหน่อยจะได้มีเงินไว้เลี้ยงตัวตอนแก่ ผมบอกอาจารย์แล้วว่าควรมีหลายบ้าน เวลาเบื่อนอนบ้านนี้ก็หนีไปนอนบ้านนู้น แถมมีเงินสดไหลเข้ากระเป๋าทุกเดือน แม้ภรรยาจะเคือง แต่ก็เชื่อว่า น่าจะยอมรับได้
ผมฟังแล้วก็ได้แต่ยิ้มใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว เพราะถ้าพูดออกไปจะรู้กันหมดว่ามีกี่บ้าน ความลับถ้าไม่เปิดเผยมันจะยังเป็นความลับ แทนคำตอบผมส่งกระดาษแผ่นเล็กๆให้อ่าน เพื่อเตือนสติก่อนสตาร์ท เอ๊ย! เพื่อให้เตรียมความพร้อมก่อนจะดีใจเกินเหตุ
อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า
ต้องเสียภาษีเงินได้
ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เดี๋ยวๆ ผมให้เช่าคนเช่าก็เป็นชาวบ้าน ตาสีตาสา ยายมียายมา หาเช้ากินค่ำ เรียกเก็บค่าเช่าก็ต่ำเตี้ย ติดดินแบบนี้ ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วยเหรอ ลุงป้าแกก็ไม่เคยขอใบเสร็จรับเงินอะไรเลย จ่ายเงินแล้วก็ได้พัก เป็นอันจบ
ผมได้แต่ตอบไปว่าฟ้าไม่รู้ดินไม่รู้ แต่จริงๆแล้วเรารู้นะว่าเราทำอะไรอยู่ เท่าที่ผมรู้คุณพี่ให้นิติบุคคลเช่าและมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย ซึ่งไอ้รายการนี้ล่ะ มันจะวิ่งไปแสดงตัวให้คุณสรรพ์รู้ว่า คุณพี่มีรายได้จากการให้เช่า ซึ่งคุณสรรพ์อาจจะมีคำถามต่อว่ามีกี่หลังกี่แปลง อาจจะลงไปสำรวจพื้นที่แล้ว เรียกตัวไปไต่สวน เพื่อจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง ถ้าไม่เจอไอ้ที่ซ่อนอยู่ก็ไม่เป็นไร ถ้าเจอก็ตัวใครตัวมัน
มาดูกันก่อนว่าหากเรามีรายได้ค่าเช่า เราต้องเสียภาษีกันอย่างไรซึ่งจะแบ่งผู้มีรายได้เป็น 2 กลุ่มคือ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งแม้จะรายได้เหมือนกันแต่การหักรายจ่ายและการเสียภาษีแตกต่างกัน
บุคคลธรรมดา คำนวณภาษีโดย
( รายได้ - รายจ่ายเป็นการเหมาตามที่กฎหมายกำหนด - ค่าลดหย่อน ) X อัตราภาษี
หรือ
( รายได้ - รายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร - ค่าลดหย่อน ) X อัตราภาษี
สิ่งที่ทำให้เราเสียภาษีแตกต่างกันมี 2 เรื่อง คือ
การเลือกหักรายจ่าย
ประเภทการให้เช่า
เรื่องการหักรายจ่ายคุณๆพี่สามารถเลือกได้ว่าจะหักรายจ่ายเป็นการเหมา หรือหักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร ต้องลองคำนวณดูว่าวิธีไหนหักรายจ่ายได้มากกว่า เราก็เลือกวิธีนั้น ปีนี้อยากเลือกแบบนี้ ปีหน้าอยากเปลี่ยนใจเลือกแบบอื่นตามสบาย ใครว่าคุณสรรพ์ใจร้ายถอนคำพูดนะ
ส่วนเรื่องประเภทการเช่านั้นเกี่ยวกับอัตราการหักรายจ่ายเป็นการเหมา เพราะคุณสรรพ์ท่านจัดสรร ให้เรียบร้อยว่าเช่าอะไรหักรายจ่ายได้เท่าไหร่ ไม่ต้องคิดมากหยิบนำไปใช้ได้เลย
เช่าอาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอื่น
หักรายจ่ายเหมา 30%
เช่าที่ดินเพื่อใช้ในการเกษตร
หักรายจ่ายเหมา 20%
เช่าที่ดินไม่ใช้เพื่อการเกษตร
หักรายจ่ายเหมา 10%
เช่ายานพาหนะ
หักรายจ่ายเหมา 30%
เช่าทรัพย์สินอื่นๆ
หักรายจ่ายเหมา 10%
จากเบาไปหาหนัก เอ๊ย!หักรายจ่ายได้มากไปหาน้อย เลือกเอาว่าจะเช่าแบบไหน แต่คุณพี่ไม่ต้องคิดนอกกรอบนะว่า ให้เช่าที่ดินแต่จะอ้างว่าให้เช่าที่ดินสิ่งปลูกสร้าง เพื่ออยู่อาศัยเพราะจะหักรายจ่ายเหมา ได้มากกว่า เวลาคุณสรรพ์มาส่องดูไม่พบบ้านจะอ้างว่าไม่รู้ ไม่รู้ คงไม่รอด เพราะพยานปากเอกคือผู้เช่า ซึ่งอยู่ในสถานที่เกิดเหตุเวลาคุณสรรพ์ไปถาม 100 ทั้งร้อย เล่าความจริงหมดเปลือกไม่ต้องรอให้คุณชูหรือคุณสันมาแฉแต่เช้า ถ้าเข้าใจเรื่องบุคคลธรรมดาแล้ว มาดูกันว่านิติบุคคลเสียภาษีจากค่าเช่าอย่างไรสรุปได้ว่า
นิติบุคคล คำนวณภาษีโดย
( รายได้ - รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่า ) X อัตราภาษี
นิติบุคคลจะหักรายจ่ายได้วิธีเดียวคือนำรายจ่ายที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับกิจการมาหัก ไม่เหมือนบุคคลธรรมดาที่หักรายจ่ายแบบเหมาจ่ายได้ แน่นอนว่าการหักรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง จะต้องมีหลักฐานชิ้นสำคัญในที่เกิดเหตุคือ ใบเสร็จรับเงิน
จบนะ ก่อนจบขอบอกอีกนิดแต่ไม่ได้ให้คิดทำ ถ้ากล้าให้เช่าแต่ไม่กล้าเสียภาษี กรุณาตรวจเช็คให้ดี ว่าผู้เช่าไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ได้นำไปบันทึกเป็นรายจ่ายในการทำธุรกิจ เพราะมันจะย้อนศรมาหา เราได้ง่ายๆ แต่ทำให้ถูกทำให้ดี ภาษีประหยัดได้อย่างถูกต้อง สบาย และปลอดภัยกว่ากันเยอะ เชื่อเถอะโดนมาแล้ว
นายภาษี
รู้ก่อนลุย! |
|
|
พระราชกฤษฏีกา ฉบับที่ 11/2502 มาตรา 5 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ยอมให้หักค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้ (1) การให้เช่าทรัพย์สิน (ก) - (จ) เว้นแต่ผู้มีเงินได้ตาม (ก) ถึง (จ) จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมิน และพิสูจน์ได้ว่า มีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์
|
#เช่าอสังหาริมทรัพย์ #หักรายจ่ายเป็นการเหมา #หักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร #ภาษีเงินได้หักณที่จ่าย #บุคคลธรรมดา #นิติบุคคล #ใบเสร็จรับเงิน #ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง