กล้าจ่ายไม่กล้าขอ
ที่คิดว่าจบกลับไม่จบ
ที่คิดว่าไม่จบกลับจบ
แต่ก็ดีกว่าโดนเต็มคาราเบล
แล้วไม่จบใช่ไหมวิ
หลังจากตามหาที่ดินในฝันมานานหลายเพลาไม่พบไม่เลิกลาไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน หายใจเข้า ก็เฮ้อเธอ เอ๊ย!หายใจเข้าก็นึกถึงแต่ที่ดิน หายใจออกก็นึกถึงแต่เงินทองที่จะไหลมาเทมา ในที่สุดผมก็พบและ เป็นเจ้าของที่ดินแปลงงามจนได้ จัดการหักคอเจ้าของที่ดินให้แจ้งราคาเกินจริง เอ๊ย!ราคาตามจริงโดยเสีย ภาษีถูกต้อง แต่ไม่เกินเหตุตามที่ติดตามอ่านบทความมาเรื่อย ถือเป็น FC พันธ์แท้คนนึง ถ้าไปออกรายการ ถามมาผมตอบได้หมด ว่าบทความไหนพูดเรื่องอะไร ลงวันไหน คำผิดกี่คำ 555
วันนี้ผมขอใช้สิทธิ์แฟนพันธ์แท้ส่งคำถามมาให้ตอบหน่อยนะครับ ไม่รีบแต่ด่วน ไม่ฟรีแต่ขอยัง ไม่จ่ายตอนนี้ โครงการเสร็จเรียบร้อยค่อยจ่ายเป็น Success Fee ละกัน เรื่องมีอยู่ว่าผมกำลังจะสร้างอาคารพาณิชย์ 8 ยูนิต เพื่อขายคำนวณคร่าวๆ แล้วรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ไปไกลแน่ แต่เท่าไหร่ขอไม่บอก เผื่อคุณสรรพ์อ่านพบเข้าจะได้ไม่โดนเพ่งเล็ง ผมเคยได้ยินมาว่ารายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันแบบนี้ ผมต้องทำอย่างไรให้ถูกต้องไม่โดนประเมิน
ไม่เร็วแต่ด่วนก็เจ็บพอแล้วจะจ่าย Success Fee ตอนงานเสร็จอีก รู้สึกเหมือนหมาเห็นปลากระป๋อง ยังไงยังงั้น เพราะแค่เริ่มต้นก็เป๋เดินก็เริ่มจะผิดทางไปจับเอาเรื่อง VAT มาปนเปื้อนกับ SBT ซะแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มักจะกังวลเรื่องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม, 1.8 ล้านบาทบ้าง บางคนก็จดทั้งที่ไม่ต้องจด บางคนไม่จดทั้งที่ต้องจด เป็นอย่างนี้มาชั่วนาตาปี ถ้าเราโดนประเมินภาษีเรื่องนี้ขอให้สบายใจ ได้มีเพื่อนโดนกันเยอะ ย้ำกันอีกครั้ง
ประกอบธุรกิจอยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม
ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทันทีที่เริ่มทำธุรกิจหรือ
เมื่อรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
ถ้าไม่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม
รายได้จะมากน้อยแค่ไหน
ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
สิ่งที่แตกต่างกันเรื่องนึงของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับธุรกิจที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และธุรกิจที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Non VAT) คือ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขอคืนภาษีซื้อได้
ไม่จดทะเบียนหรือทำธุรกิจยกเว้น VAT
ขอคืนภาษีซื้อไม่ได้
โครงการพัฒนาอาคารพาณิชย์หมื่นล้านของคุณพี่ท่าน เป็นการทำอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ต้องกังวลว่ารายได้จะเกิน 1.8 ล้านบาทหรือไม่ เพราะไม่ต้องจด ทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มชัวร์ไม่มั่วนิ่ม O.K. นะวิ
ไม่ต้องถามแต่บอกเพิ่มว่า ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่น ค่าวัสดุอุปกรณ์, ค่าจ้างผู้รับเหมาและอื่นๆอีกมากมาย ต้องทำใจให้แน่วแน่ อย่าขอคืนเด็ดขาด บอกน้องชีทั้งหลายว่าอย่าเผลอ เห็นใบกำกับภาษีแล้วอดใจไม่ได้เด็ดขาด
ภาษีซื้อจากรายจ่ายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ไม่สามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อ
แต่นำมารวมเป็นต้นทุนหรือรายจ่ายได้
จะขอก็รีบขอคงใช้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเป็น..แน่หรือพี่จ๋าทุกครั้งเวลาได้รับใบกำกับภาษี โทษฐานขอคืนภาษีซื้อโดยไม่มีสิทธิขอ แรงส์เอาเรื่องจริงๆ ใครไม่โดนไม่รู้หรอกว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน
นายภาษี
รู้ก่อนลุย ! |
|
|
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42 ข้อ 2 ภาษีซื้อดังต่อไปนี้ ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร (3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สิน เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้อง เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 77/3 นอกจากกรณีตามมาตรา 91/4 กิจการใดที่อยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 หรือได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/3 ย่อมไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 นี้ มาตรา 91/2 ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้ (6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้ มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกา
#กิจการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม #NonVAT #ภาษีซื้อ #ภาษีมูลค่าเพิ่ม #ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้ #ภาษีซื้อต้องห้าม #ภาษีธุรกิจเฉพาะ #ต้นทุนอสังหาริมทรัพย์ #ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง #ค่าก่อสร้าง |