ล้างหมดถ้าสดชื่น
วันนี้ “ท้อ” ไม่เป็นไรขอ “ใจสู้”
“พรุ่งนี้” ยังมีอยู่ให้ “แก้ไข”
ขาดทุนเท่าไหร่ไม่เป็นไร
ขอเพียงมีกำลังใจสู้ได้
ว่าจะไม่คุยเรื่องขาดทุนอีกแล้วเพราะคุยเรื่องนี้ทีไรถูกบ่นว่าเอาเรื่องไม่ดีมาพูด กำลังฝันว่าทำธุรกิจ ประสบความสำเร็จเป็นเถ้าแก่น้อยร้อยล้านอยู่ดีๆ มาสะดุดฝันด้วยการพูดว่าขาดทุนเป็นลางร้าย ได้อย่างไร อย่างนี้มันต้องถอนนะครับท่านประธาน
แต่ไปอ่านบทความของอาจารย์ปู่ที่เคารพรักของผมและลูกศิษย์หลายๆ คนที่เขียนบอกเล่าเรื่องราวของการพลิกฟื้นจากร้ายกลายเป็นดีด้วยการล้างขาดทุนสะสมให้หมด ทำได้อย่างถูกกฎหมาย กิจการจะได้ลืมตาอ้าปากได้อ่านเพลินๆ และอมยิ้มไปกับข้อเขียนที่คมกริบราวกับมีดโกน พลันคิดขึ้นได้ว่าหลายคนน่าจะมีคำถามว่า ถ้าลดทุนแบบนี้แล้วจะทำให้มีเงินได้ต้องเสียภาษีด้วยไหม เพราะเคยฟังนายภาษีเล่าว่าของถูกไม่ค่อยดี ของฟรีไม่มีในโลก ลดทุนแบบนี้ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของเราสักเท่าไหร่
การลดทุนไม่ยาก แต่ก็มีประเด็นต้องระวังโดยเฉพาะหากเผลอไผลไปลดทุนทั้งที่กิจการมีกำไร มีผลทำให้ต้องเสียทรัพย์แน่นอน แต่กรณีการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมพอจะบอกได้ว่าไม่มีผลกระทบใด ๆ หากทำได้ถูกต้องตามกฎกติกา โดยปกติแล้วการลดทุนจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ
ลดทุนเพื่อคืนเงินให้กับผู้ถือหุ้น
ลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม
ทั้งสองแบบเหมือนกันตรงที่ กิจการได้ทำการลดทุนจดทะเบียนของบริษัท แต่ต่างกันที่
ลดทุนจดทะเบียนคืนเงินให้กับผู้ถือหุ้น
เกิดจากกิจการมีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการทำธุรกิจ
ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นในการทำธุรกิจ
นำเงินส่วนที่ลดทุนคืนให้กับผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ลงทุน
ลดทุนจดทะเบียนเพื่อล้างขาดทุนสะสม
บริษัททำธุรกิจแล้วมีผลขาดทุนสะสมต่อเนื่อง
ไม่มีการคืนเงินส่วนที่ลดทุนจดทะเบียนให้กับผูุ้ถือหุ้น
แต่นำไปหักล้างกับผลขาดทุนสะสม
หากถามว่าขาดทุนสะสมแล้วไม่ลดทุนได้ไหม ตอบว่าได้จะปล่อยผลขาดทุนสะสมไว้เป็นที่ระลึกก็ไม่มีใครว่า แต่หากธุรกิจเริ่มมีแนวโน้มที่จะเติบโตและต้องการระดมทุนเพิ่ม การล้างขาดทุนสะสมให้หมดถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจมีความน่าสนใจ เพราะหากกิจการมีกำไรในอนาคตจะสามารถประกาศจ่ายเงินปันผลได้ทันที
คราวนี้ถ้าเราลดทุนและนำไปล้างขาดทุนสะสมจะเกิดอะไรกับบริษัท และผู้ถือหุ้นบ้าง ตอบได้ง่ายสั้นและกระชับว่า ขอเธออย่าเป็นกังวล ในฝั่งบริษัทการลดทุนเพื่อนำไปล้างผลขาดทุนสะสม คุณสรรพ์ท่านว่าไม่ได้เกิดเป็นรายได้ของบริษัท จึงไม่ต้องนำผลของการลดทุนมาเป็นรายได้ เพื่อคำนวณภาษีแต่อย่างใด ส่วนผู้ถือหุ้นโดยปกติการลดทุนคืนเงินทุนให้กับผู้ถือหุ้น ก็ไม่ถือเป็นรายได้อยู่แล้ว การไม่ได้คืนเงินลงทุนจึงไม่ต้องสืบต่อว่าจะเป็นรายได้ไหม เรียกได้ว่าสมประโยชน์ทุกฝ่ายทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น จะทำอะไรก็รีบทำจะได้ต้อนรับนักลงทุนหน้าใหม่เสียที...เย้
นายภาษี
|
|
|
รู้ก่อนลุย !
กรณีบริษัท ก. ลดทุนจำนวน 30 ล้านบาท โดยการลดจำนวนหุ้นหรือลดมูลค่าหุ้นเพื่อล้างผลขาดทุนสะสมซึ่งจะไม่มีการคืนเงินลดทุนให้แก่ผู้ถือหุ้น การลดทุนดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่บริษัท ก. เนื่องจากเป็นการนำทุนอันเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นไปล้างผลขาดทุนสะสม บริษัท ก. จึงไม่มีรายได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด (ข้อหารือ กค 0706/4375 : วันที่ 19 พฤษภาคม 2549)
|
#ลดทุนจดทะเบียน #ขาดทุนสะสม #ล้างขาดทุนสะสม #นิติบุคคล #ส่วนของผู้ถือหุ้น #ลดทุนคืนเงินให้ผู้ถือหุ้น