สายย่อ
ขายเงินเชื่อคือมายา
ขายเงินสดตรงหน้าคือของจริง
เก็บได้เงินเป็นของเรา
เก็บไม่ได้มีแต่หนี้รอชำระ
โหยขายของชิ้นละไม่กี่ร้อยวันละไม่กี่ชิ้นจะต้องมาออกใบกำกับภาษี ต้องขอข้อมูลลูกค้าโน่นนี่นั่นเยอะแยะไปหมดทำแบบนี้ลูกค้ามีหวังหนีหายไป ทีแอปสีส้ม สีแดง สีเขียว ขายของไม่เห็นออกใบกำกับภาษีเลยไปทวงก็โบ้ยโน่นโบ้ยนี่จนเหนื่อยที่จะติดตามได้ของก็จบๆ แยกย้ายกันไปใช้ของใช้เงิน เราจะทำแบบนั้นได้ไหมคะ ถ้าจำเป็นต้องออกจริงๆ ระบุว่า สด และรวมยอดขายทั้งวันออก 1 ใบได้ไหม คล้ายๆ One Product One Tumbon แต่เปลี่ยนเป็น 1 ใบ 1 วัน
เป็นข้อความที่ตอบกลับมาหลังจาก click สอบถามข้อมูลสินค้า และใบกำกับภาษีไป ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า แม่ค้า Online ยังจะขายให้เราอยู่ไหม หากยืนยันว่าจะขอใบกำกับภาษี ยอดขายมันเยอะมากจนออกใบกำกับภาษีไม่ได้จริง ๆ กำลังคิดว่าจะถอยดีหรือจะยืนหยัดสู้เพื่อขอใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ซื้อสินค้าตามที่คุณสรรพ์มอบหมายหน้าที่ชิ้นสำคัญเอาไว้
ไม่ปล่อยให้ความสงสัย และความตั้งใจลอยนวล คำถามที่คิดไว้ถูกส่งไปทันทีว่า ยอดขายพี่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีไหมครับ คำถามแรกตามไปข้อความถัดมาก็ถูกส่งไปตามลำดับว่า หากรายได้พี่ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี พี่ไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ รวมถึงไม่ต้องนำส่งภาษีขายให้กับคุณสรรพ์ด้วย ดังนั้นหากใครแจ้งขอใบกำกับภาษีจากพี่สามารถตอบง่ายๆ ได้เลยว่า ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ แค่นี้ก็จบแล้วครับ
ถ้าพี่ตอบว่ายอดขายพี่ดีมาก ขาย 3 เดือนออก Porche, Lambogini มาขับโชว์เหมือนที่เค้าชอบทำกันบ่อย ๆ หรือนำเงินสดๆ เป็นปึกๆ มาวางเพื่อโชว์ความสำเร็จ แบบนี้พี่ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำใบกำกับภาษีส่งมอบทุกครั้งที่ขาย รวมถึงนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้คุณสรรพ์ด้วยไม่อาจหลีกเลี่ยง ยกเว้นว่าพี่ขายของที่คุณสรรพ์บอกว่าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ว่าไปอีกเรื่อง
พี่มีเวลาตอบ 3 วินาทีผมจะได้รู้ และตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าเพื่อนำมาส่งให้ผู้สั่งซื้อตัวจริง ที่ยืนตาเขียวกำกับอยู่ว่ามอบหมายให้ดำเนินการตั้งนานแล้วทำไมไม่เสร็จซะที สมมติว่าพี่ตอบว่ารายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ขอถือโอกาสบอกต่อว่าอย่าเพิ่งกังวลเรื่องขอชื่อ-ที่อยู่ผู้ซื้อ เพื่อนำไปออกใบกำกับภาษีเลย ขอให้สำรวจตัวเองโดยตอบคำถาม 2 ข้อก่อน
ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อไปใช้เอง
ไม่ได้ซื้อเพื่อนำไปขายต่อ
หากคำตอบคือใช่ แสดงว่าพี่ประกอบธุรกิจขายสินค้าปลีกให้กับรายย่อย มีสิทธิมีเสียง เอ๊ย! มีสิทธิที่จะออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อแต่อย่างใด ขอแค่ให้มีรายการครบถ้วนตามที่คุณสรรพ์กำหนดเป็นอันใช้ได้ ดังนั้นหากใครขอใบกำกับภาษีขอให้คุณพี่ตอบ Yes และจัดส่งใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ลูกค้าก็เรียบร้อย ยกเว้นว่าลูกค้าอย่างผมอยากได้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ก็ค่อยขอข้อมูลส่วนตัวของผมไปเพื่อออกใบกำกับภาษีได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะผิดผี เอ๊ย! ผิด PDPA แต่อย่างใด
แต่อย่างที่บอก ใบกำกับภาษี ไม่ว่าเต็มรูปหรืออย่างย่อจะต้องออกทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือให้บริการ เรียกว่าต้องออกครั้งต่อครั้งไม่ว่าจะขอหรือไม่ขอ จะมุบมิบบอกว่าไม่ขอเลยไม่ได้ออก หาได้ไม่ หากคุณสรรพ์ไม่ตรวจก็อาจจะรอด แต่ตรวจเมื่อไหร่มีเสียว ต้องบนบานสานกล่าวขอให้พระรอดมาช่วย ให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากพิษบ่วงภาษีให้ได้
มีกฎก็มียกเว้น คุณสรรพ์ไม่ใจร้ายกับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ คุณพี่จะใช้สิทธิรวมยอดขายเพื่อออกใบกำกับภาษีปี เอ๊ย!วันละครั้งได้ หากตอบถูกทุกข้อดังนี้
รายรับไม่เคยถึง 300,000 บาท/เดือน
ขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 1,000 บาท/ครั้ง
ถ้าคุณพี่เช็คแล้วเข้าเงื่อนไขตามนี้ สามารถที่จะรวมยอดขายทั้งวัน เพื่อออกใบกำกับภาษีครั้งเดียวได้ ยกเว้นสำหรับการขายสินค้าให้ผม เนื่องจากผมขอใบกำกับภาษีไม่ว่าจะเต็มรูปหรืออย่างย่อ พี่ก็ต้องแยกรายการออกมาอีก 1 รายการ เท่ากับว่าวันนี้ถ้ามีผลคนเดียวขอก็จะมีใบกำกับภาษี 2 ใบ และนำไปลงในรายงานภาษีขายรายการ O.K. ป่ะ
แต่เมื่อยกเว้นให้แล้ว วันใดหากทำผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดไม่ว่าจะวันไหนเวลาไหนถือว่าผิดศีลทันที หมดสิทธิที่จะนำยอดขายรวมทั้งวันมาออกใบกำกับภาษีแล้ว ต้องออกทุกครั้งที่ขายสินค้าและให้ บริการ
วางแผนภาษีขั้นแรกด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้องก็ปลอดภัยไร้กังวล ไม่ต้องหลบ ไม่ต้องหนี รู้เรื่องภาษี ก็ช่วยได้ ยิ่งการซื้อขายสินค้าทุกวันนี้ โดยเฉพาะ Online ทั้งหลายต้องอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า การรับเงินแทบจะเป็นการโอนเงินเกือบทั้งหมด คุณสรรพ์ไปยืนรอที่ปลายทางรอข้อมูลจากธนาคาร หากเข้าเงื่อนไข 400 กับ 2 ล้านบาท และ 3,000 รายการ ข้อมูลจะวิ่งตรงไปรายงานกับคุณสรรพ์ แบบไม่เกรงใจ PDPA กันเลยทีเดียว
นายภาษี
|
|
|
รู้ก่อนลุย !
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 32 “ข้อ 2 การประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือการให้บริการ ในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ซึ่งเป็นกิจการค้าปลีกต้องมีลักษณะหรือ เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอย กิจการขายของชำ กิจการขายยา กิจการจำหน่ายน้ำมัน และกิจการห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้เฉพาะในการขายสินค้าที่เป็นไปตามลักษณะและหรือเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น (2) การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด กิจการโรงภาพยนต์ และกิจการสถานบริการน้ำมัน เป็นต้น กิจการภัตตาคารได้แก่กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือนอกสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้
|
#ขายรายย่อย #ให้บริการรายย่อย #ใบกำกับภาษี #ใบกำกับภาษีอย่างย่อ #รวมยอดขาย #รายงานภาษีขาย #ภาษีมูลค่าเพิ่ม