ขายไม่ขายก็ต้องเสียภาษี

เปิดร้านค้าเล็กๆ ให้คนแก่ขาย #แต่บ้านเป็นตึก3ชั้น#ขายของเล็กๆ น้อยๆ 

ภาษีมันปีละ 10,000 เลย เหรอครับ 

ขอถามผมไม่รู้จริงๆครับ ถ้าขายบุหรี่กับเหล้า ต้องเสียปีละ10,000 เลยหรือ 

อะไรมันจะโหดปานนั้น

 

            เป็นข้อความที่บังเอิญได้ไปอ่านพบ ยามที่แอบหลบภรรยา และบรรดาน้องๆ ที่เคารพในสำนักงานไปท่อง Social เพื่อ up skill สมอง ที่ค่อนข้างอ่อนล้าตามอายุขัย ซึ่งเชื่อว่าคงสร้างแนวร่วมแห่งความทุกข์ระทมเวลาโดนประเมินภาษีได้ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่ชวนให้ขบคิดกันต่อว่า ภาษีโหดร้ายอย่างนั้น จริงๆ หรือเราไม่ควรปล่อยให้คุณสรรพ์ตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่มีโอกาสได้แก้ตัว มาแกะรอยปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วมาดูกันว่าคุณสรรพ์จะหลุดจากข้อกล่าวหาได้หรือไม่

 

            มาแกะกันทีละประเด็น

            บ้านตึก 3 ชั้น เปิดเป็นที่ขายของชำ

            ให้คุณแม่ขายของ

            ภาษีปีละ 10,000 บาท

 

            ไม่มีข้อมูลอื่นใดไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ก็ต้องแกะรอยกันตามนี้ เพื่อให้เห็นภาพเวลาที่ใครโดนปัญหาแบบนี้ เราต้องเริ่มต้นจากภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคงไม่ขอนำมาบอกเล่าทั้งหมดในที่นี้ แต่ขอหยิบยกที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องก็น่าจะพอโดยประเด็นที่คาดว่าจะถูกประเมินคงมีเพียง 3 เรื่องหลักๆ คือ

 

- ภาษีเงินได้

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม

- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

            เรื่องแรกคือภาษีเงินได้ ซึ่งจากการที่ให้คุณแม่ขายของสามารถฟันธงได้เลยว่าคุณแม่ต้องนำรายได้จากการขายของชำไปรวมเป็นเงินได้ เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยคุณแม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 นำรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย. ไปยื่นแบบ ภงด. 94 ภายในเดือน ก.ย.

ครั้งที่ 2 นำรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน ม.ค. - ธ.ค. ไปยื่นแบบ ภงด. 90 ภายในเดือน มี.ค. ปีถัดไป

 

            ส่วนจะเสียภาษีเท่าไหร่ จะถึงหมื่นหรือไม่คงบอกไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลให้สืบต่อได้ว่า เงินได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร เราไปดูกันต่อสำหรับภาษีตัวที่ 2 ซึ่งโหดร้ายไม่แพ้กัน คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคุณแม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และเมื่อจดทะเบียนแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ดังนี้

 

1. สิทธิในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้า หรือรับบริการ

2. หน้าที่ในการจัดทำใบกำกับภาษี เมื่อมีการขายสินค้า ให้บริการ หรือรับชำระเงิน

3. หน้าที่ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

4. หน้าที่ในการจัดทำรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีขาย

 

เรื่องราวของภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นประเด็นที่สร้างความปวดร้าวให้กับคนทำธุรกิจ คนขายสินค้า ไม่ว่าจะ on line หรือ off line กันมามาก เพราะไม่เคยรู้แม้สักนิดว่า ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มักคิดว่าเป็นเรื่องของนิติบุคคล ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดมากๆ

 

ภาษีตัวสุดท้าย ซึ่งให้คาดเดาก็คิดว่าการประเมินให้เสียภาษีหลักหมื่นในคราครั้งนี้ น่าจะเป็นเรื่องนี้มากกว่าเรื่อง อื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ให้กับเจ้าของทรัพย์สิน ประเภทที่ดิน สิ่งปลูกสร้างกันทุกหย่อมหญ้า เรามาเริ่มปูพื้นกันเล็กๆ สำหรับภาษีตัวนี้ก่อน โดยภาษีตัวนี้จะเก็บจาก

 

1.  เจ้าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง

2.  ราคาประเมินที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง

3.  การใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง

 

            เมื่อเข้าใจแล้วว่าภาษีตัวนี้เก็บอย่างไร ไปดูกันต่อว่าต้องเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าวิธีการคำนวณไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหมือนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลว่ากันตรงไปตรงมาดังนี้

 

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง - มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น X อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

            รู้และเข้าใจวิธีการคำนวณ มาดูกันต่อว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีกันเท่าไหร่มากน้อย แค่ไหน ซึ่งก็แบ่งจัดเก็บตามประเภทการใช้ประโยชน์ โดยขอสรุปแบบย่อๆ สั้น ๆดังนี้

 

-  ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร    จัดเก็บสูงสุด อัตรา 0.10%

-  ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย  จัดเก็บสูงสุด อัตรา 0.10%

-  ใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์  จัดเก็บสูงสุด อัตรา 0.70%

-  รกร้างว่างเปล่า จัดเก็บอัตรา 0.3% ปรับเพิ่มทุก 3 ปี สูงสุดไม่เกิน 3%

 

            อย่าเพิ่งตกอกตกใจกับเรื่องภาษีตัวนี้จนมากเกินไปนะ เอาไว้จะมาเล่าๆ ใหัฟังไปเรื่อยๆ ตอนนี้ปูแค่พอรู้พอเห็น เวลาจะทำอะไรจะได้เข้าใจว่าภาษีมันอยู่รอบตัวเราจริงๆ คราวนี้มาตบท้ายก่อนจากว่า หากคุณแม๊ เอ๊ยคุณแม่โดนภาษีตัวนี้จริง ๆ ต้องบอกว่าโดนเพราะมีการใช้ประโยชน์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเสียภาษีจากราคาประเมินของอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องรายได้ต้องไปเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มแยกไปอีกเรื่อง

 

            งานนี้จึงต้องไปดูว่า ราคาประเมินอาคารพาณิชย์มีมูลค่าเท่าไหร่ ได้แล้วมาดูต่อว่ามีการยกเว้นหรือไม่ หากมีก็นำมาหักออก เหลือเท่าไหร่ก็ไปเอาอัตราภาษีมาคูณ หากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ ประเมินสูงไปก็ไปถกเถียง เอ๊ยไปชี้แจงหรืออุทธรณ์ภาษี สามารถใช้สิทธิทำได้ไม่มีปัญหาอะไร

 

            แต่งานนี้อาจจะเสียภาษีน้อยลง เพราะในความเป็นจริงคุณแม๊ใช้แค่พื้นที่ชั้นล่างมาเป็นร้านค้า ส่วนชั้น 2 และ 3 เดาว่าใช้เป็นที่พักอาศัย เท่ากับว่าอาคารนี้จะเสียภาษีจากการใช้ประโยชน์ 2 ประเภท เสียภาษี 2 อัตรา น่าจะประหยัดภาษีได้ไม่มากก็น้อย คงพอจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ภาษีเสียน้อยลงได้ถ้ารู้และทำได้อย่างถูกต้อง เดี๋ยวรอบถัดไปจะหยิบนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังว่า คุณแม๊ จะประหยัดภาษีได้แค่ไหน วันนี้ขอไปชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อนนะครับ คนมีบ้านหลายหลังก็ปวดใจหน่อยช่วงนี้

 

เกร็ดภาษีที่ต้องรู้ !

 

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

●   จัดเก็บตามประเภทการใช้ประโยชน์และตัวผู้เสียภาษี

●   อัตราภาษีคำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าฐานภาษีแต่ละขั้น

●  หน่วยงานที่จัดเก็บคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นเทศบาล, อบต., กรุงเทพ, เมืองพัทยา (สรรพากรไม่เกี่ยวไม่ข้องเลย)

●   หน่วยงานจัดเก็บจะส่งแบบประเมินให้ภายในเดือน ก.พ. ของแต่ละปี

●   ต้องชำระภาษีภายในดือน เม.ย. ของแต่ละปี


#ภาษีเงินได้#ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง#อสังหาริมทรัพย์#ผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง#ลดภาษี#วางแผนภาษี  

 

 

NEED SOME BUSINESS SUGESSION?

WE CAN HELP YOU

เราภูมิใจเป็นอย่างมากหากท่านสามารถใช้ประโยชน์ หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้เพื่อนนักธุรกิจ นักบัญชี ภาษี และอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่...อย่างไรก็ตาม สำหรับการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดาที่ปรึกษาในการแวะเวียนมาบรรเลงใน msgconsultant.com ประกอบด้วย

We are very proud if you can take advantage or forward the information to the business tax accountants and others to apply and to take full advantage of them. However, knowledge that has been in favor of those that came into play.

Related Site :

บริษัท เอ็มเอสจี คอนซัลแทนท์ จำกัด

149, 151 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160
โทร. 02-803-6820, 02-803-6821, 02-803-6822
แฟกซ์ 02-903-0080 ต่อ 6823
Email : info@msgconsultant.com