เลิกแล้วแต่ภาษียังตามหลอน

ไม่รู้ว่าจะจองล้างจองผลาญกันถึงไหน

ปิดกิจการ หมดเนื้อหมดตัวแล้วยังจะเก็บภาษีอีก

ทีคนรวยไม่รู้จักไปเก็บภาษีมาไล่บี้เอากับคนไม่มี

 

            เป็นเสียงบ่นว่าที่ได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงเวลานี้ ช่วงที่ทุกอย่างขึ้นหมดยกเว้นเงินเดือน หรือรายได้ ทำให้ร้านรวงต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับพายุที่โถมกระหน่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นพายุ COVID, พายุเศรษฐกิจ, พายุสงครามพากันล้มหายตายจากกันไปไม่มากก็น้อย เห็นได้จากสภาพกิจการร้าง, ป้ายปิดกิจการที่เห็นกัน ทั่ว  แถมด้วยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL’s ก็เริ่มท่วมธนาคาร

 

            ใครใคร่ทำ หรือมีแรงฝ่าฟันก็ทำกันต่อไป แต่หากใครอยากเลิก พักตั้งหลักตั้งสติเพื่อลุยกันต่อ ก็ว่ากันไป แต่ก่อนจะเลิกขอให้ตั้งหลักตั้งสติกันให้ดีก่อนว่า ที่ผ่านมาเราทำธุรกิจในรูปแบบใด ระหว่าง บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ตามที่ได้เคยอธิบายให้ฟังในครั้งก่อน เพราะแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน ทั้งในตอนเริ่มต้นและตอนเลิก หากเราทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา ในที่ที่เลิกกิจการ

 

ไม่มีรายได้ = ไม่ต้องเสียภาษี

ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่เหลืออยู่หากไม่ได้ขาย = ไม่ต้องเสียภาษี

ไม่ต้องจดทะเบียนเลิก

 

            ง่ายสั้นกระชับแค่นี้ เพราะถ้าจำรูปแบบการคำนวณภาษีของบุคคลธรรมดาได้ ก็จะพบว่าไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้จริง ๆ แต่ในทางกลับกัน หากเราทำธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคลก่อนจดทะเบียนเลิก ย้ำ! จดทะเบียนเลิกกิจการนะครับ ไม่ใช่แค่เลิกค้าขาย เลิกมีรายได้ หรือหยุดทำธุรกิจ

 

เลิกกิจการ, ไม่ขายไม่ให้บริการ, ไม่มีรายได้ ≠ จดทะเบียนเลิกกิจการ

หากแค่เบื่อๆ ไม่อยากทำต่ออันนี้ทำได้เลยไม่ต้องกังวลอะไร ในปีนั้นหากไม่ได้ มีรายได้ ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ยังคงต้องยื่นงบการเงิน และยื่นแบบตามปกตินะครับ อันนี้ห้ามพลาด แต่หากตัดสินใจ เด็ดขาดกี่บาทก็ยอมทุ่มเท เอ๊ย ตัดสินใจว่าจะตัดบัวไม่เหลือเยื่อใย ไม่ไปต่ออีกแล้วไม่ว่าชาตินี้ชาติไหน  ก่อนจะตัดสินใจจดทะเบียนเลิกกิจการ ขอให้ตรวจสอบให้ดีว่าในงบการเงินมีรายการอะไรตกค้างอยู่บ้าง และให้จัดการให้สิ้นซากก่อน

ทรัพย์สิน  → ขาย

หนี้สิน  → ชำระคืน

กำไรสะสม  → จ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น

 

            เพราะเมื่อเลิกกิจการ และจดทะเบียนเลิกทรัพย์สิน และหนี้สินต้องถูกสะสางจนหมด จะบอกว่า ทรัพย์สินที่มีไม่ว่าที่ดิน, อาคาร, เครื่องจักร, รถยนต์ และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมขาดทุนแต่มีทรัพย์สินเยอะ 555 นอกเรื่องละ จะบอกว่าเมื่อเลิกกิจการก็จะกลายเป็นของกรรมการ หรือผู้ถือหุ้น แบบนี้พูดเปล่าๆ ไม่ได้นะครับ เพราะกรรมการ, ผู้ถือหุ้น หรือบริษัทเป็นคนละคนกัน หากบอกว่ายกให้ก็เท่ากับว่า

 

บริษัทขายทรัพย์สิน  → กรรมการ, ผู้ถือหุ้นซื้อทรัพย์สิน

 

            แปลว่ากิจการมีภาระจากการขายทรัพย์สินครบถ้วนทุกรายการ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องนำกำไรจาก การขายทรัพย์สินมาคำนวณภาษี  อธิบายแบบนี้คงพอเห็นภาพแล้วนะครับว่า ทรัพย์สินต่างๆ ที่ค้างอยู่ใน งบการเงินวันที่เลิกกิจการจะมีสภาพเป็นอย่างไร ตอบง่ายๆ ว่า ถูกประเมินเป็นการขาย ต้องชำระภาษีที่ เกี่ยวข้องแบบไม่มีตกหล่น

 

            ในทางกลับกันหากกิจการมีหนี้สิน และจดทะเบียนเลิกโดยยังไม่ได้ชำระหนี้ หรือยังมีรายการ หนี้สินต่างๆ ตกค้างจะเกิดอะไรขึ้น ฟันธงได้เลยว่ากิจการได้รับประโยชน์จากการที่ไม่ต้องชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นเงินได้ของบริษัทที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้อีก 1 ยก

 

            ลองคิดเล่นๆ มีทรัพย์สินเป็น 100 หนี้สินเป็นล้าน และใจเร็วด่วนได้ไปจดทะเบียนเลิกโดยไม่ได้ สะสางก่อน อาจจะถูกประเมินเป็นเงินได้ของกิจการเป็นล้านได้เช่นกัน ส่วนจะต้องชำระภาษีมากน้อยเพียงใดก็ต้องไปดูสภาพของกิจการว่าทรุดโทรมแค่ไหน มีผลขาดทุนสะสมมาช่วยชีวิตหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ภาษีมูลค่าเพิ่ม, เบี้ยปรับ, เงินเพิ่ม จากการที่ไม่ได้นำมูลค่าทรัพย์สินที่ถือเป็นการขาย ณ วันเลิกกิจการไปยื่นนำส่ง อันนี้อ่วมแน่นอน หลายกิจการเลิกไปแล้ว อาจจะโดนคดีตามหลังข้อหาเลี่ยงภาษีเข้าไปอีก แม้บริษัทจะเลิก แต่กรรมการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบยังอยู่ ปะเหมาะเคราะห์ร้าย เคยเห็นมีบางกรณีคุณสรรพ์ ไม่ยอมให้เลิกให้มาเคลียร์ปัญหาที่ก่อไว้ให้จบก่อนก็เคยมี หากเจอแบบนี้ตั้งหลักให้แน่วแน่ ทำบุญไหว้พระ ทำใจให้สงบ และลองเอาข้อมูลมาคุยกัน แต่จะดีกว่านั้นจะคิดจะทำอะไรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบรอบด้าน มีที่ปรึกษาดีๆ เหมือนมีพระไว้ห้อยคอให้สำรวม ค่อยคิด ค่อยทำ ช่วยได้เยอะ 555

 

เกร็ดภาษีที่ต้องรู้ !

 

มาตรา 72 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ถ้าบุคคลดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานประเมิน อาจสั่งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของ จำนวนภาษีที่ต้องเสีย เงินนี้ให้ถือเป็นค่าภาษี


ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันดังกล่าวแล้ว เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี ให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกัน ในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบและภายในกำหนด เวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 68 และมาตรา 69 โดยอนุโลมที่ ป. 66/2539 เรื่อง การแจ้งเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร


ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้แจ้งเลิกการประกอบกิจการตามข้อ 1 มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือ หรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ซึ่งตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือเป็นการขายและให้ถือมูลค่าของฐานภาษีตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบกิจการ ตามมาตรา 79/3(5) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย

 

#ภาษีเงินได้นิติบุคคล #การยื่นแบบ #การหักรายจ่าย #กำไรทางบัญชี #กำไรทางภาษี #รายจ่ายต้องห้าม #รายจ่ายบวกกลับ #ขาดทุนแต่ต้องเสียภาษี #ทรัพย์สิน #หนี้สิน #ภาษีมูลค่าเพิ่ม #ชำระบัญชี #เลิกกิจการ

NEED SOME BUSINESS SUGESSION?

WE CAN HELP YOU

เราภูมิใจเป็นอย่างมากหากท่านสามารถใช้ประโยชน์ หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้เพื่อนนักธุรกิจ นักบัญชี ภาษี และอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่...อย่างไรก็ตาม สำหรับการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดาที่ปรึกษาในการแวะเวียนมาบรรเลงใน msgconsultant.com ประกอบด้วย

We are very proud if you can take advantage or forward the information to the business tax accountants and others to apply and to take full advantage of them. However, knowledge that has been in favor of those that came into play.

Related Site :

บริษัท เอ็มเอสจี คอนซัลแทนท์ จำกัด

149, 151 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160
โทร. 02-803-6820, 02-803-6821, 02-803-6822
แฟกซ์ 02-903-0080 ต่อ 6823
Email : info@msgconsultant.com