เงินประกัน...กับการทำงาน

 

 

เรียน      คุณหมอความ

                สมมตินะครับ…สมมติ….สมมติว่าพลับประกอบธุรกิจทางด้านสิ่งทอ  และมีสาวโรงงานหนุ่มโรงงาน  รวมถึงทีมงานด้านการตลาดและอื่น ๆ  อีกมากมาย  ซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวาย  สับสน  ในการบริหารเป็นอย่างมาก  เพื่อป้องกัน  ความเสียหายจากการละทิ้งหน้าที่…พลับจึงให้บริษัทของพลับคือ  บริษัท  สมมตินะครับ  จำกัด  เรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงานจากพนักงานทุกคน ๆ ละ  10,000  บาท  หากใครมีเงินจ่ายบริษัทจะเก็บรักษาเงินไว้ในตู้เซฟเป็นอย่างดี  แต่หากใครไม่มีเงิน  น้องพลับ…ใจดีให้ผ่อนชำระโดยไม่ติดดอกเบี้ย  10  งวด ๆ  ละ  1,000  บาท  โดยการหักจากเงินเดือนทุก  ๆ เดือนจนครบ   กรณีพนักงานลาออกโดยบอกให้พลับรู้ล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด  พลับจะคืนเงินให้ทุกบาท  แต่หากผิดกติกาน้องพลับจะยึดเงินประกันไว้  ที่นี้น้องพลับได้ยินพนักงานนินทากันว่าไม่ยุติธรรมและม่ถูกต้องตามกฎมหาย  เลยทำให้น้องพลับไขว้เขว  ซึ่งคุณแม่…ขอร้องให้มาสอบถามจากคุณหมอความ  ให้ช่วยไขความกระจ่างให้ด้วย….(ขอให้ตอบตามความจริง…..ห้ามสมมติ)

น้องพลับ…..

 

ตอบคำถามน้องพลับ

ประเด็นที่  1

                การเรียกเก็บเงินประกันเพื่อประกันการทำงานของลูกจ้างหรือประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง  ที่เป็นหนุ่มสาวโรงงาน  รวมทั้งพนักงานด้านการตลาด (เซลล์ - ขายอย่างเดียวไม่มีหน้าที่ซื้อ)  นั้น  นายจ้างไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินประกันและจะหักจากเงินเดือนหรือค่าจ้างของลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างไม่มีเงินมีก้อนมาประกันก็ไม่ได้  เพราะว่าหนุ่มสาวโรงงานและพนักงานด้านการตลาดเหล่านั้น  ไม่ได้ทำงานมีหน้าที่ลักษณหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง  โดยมีทางเลี่ยงที่จะประกันความเสียหายของนายจ้างที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างได้  นายจ้างสามารถเรียกให้ลูกจ้างจัดหาบุคคลภายนอกมาค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างได้  แต่จะเรียกเป็นเงินค้ำประกันไม่ได้  หากมีการตกลงกันนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้  แม้ว่าลูกจ้างจะยินยอมตกลงด้วยนิติกรรมสัญญานั้นเป็นโมฆะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ประเด็นที่ 2   หลักและวิธีการเรียกเก็บเงินประกันการทำงานของลูกจ้าง

2.1 ลูกจ้างจะต้องทำงานเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งจะเรียกเก็บเงินประกันได้กับลูกจ้างที่ทำงานดังต่อไปนี้

(1) งานสมุห์บัญชี

(2) งานพนักงานเก็บและ/หรือจ่ายเงิน

(3) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง

(4) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน

(5) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ

(6) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อการขาย  แลกเปลี่ยน  ให้เช่าทรัพย์  ให้เช่าซื้อ  ให้กู้ยืม  รับฝากทรัพย์  รับจำนอง  รับจำนำ   เก็บของในคลังสินค้า  รับประกันภัย  รับโอนหรือรับจัดส่สินค้า  หรือการธนาคาร  ทั้งนี้เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

2.2 นายจ้างเรียกรับเงินประกันตามข้อ  1.2.1  จำนวนเงินที่เรียกหรือรับได้จะต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างได้รับเงินประกัน

2.3 ในกรณีที่เงินประกันที่นายจ้างรับตาม 1.2.2  ลดลง  เนื่องจากนำไปชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลงหรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว  นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันเพิ่มได้  ไม่เกินจำนวนเงินตามข้อ 1.2.2  เท่านั้น

 

2.4 ให้นายจ้างนำเงินประกันไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์  หรือสถาบันการเงินอื่น  โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของ      ลูกจ้างแต่ละคน  และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น  ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 7 วันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ทั้งนี้นายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันโดยวิธีอื่นนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้นี้มิได้

สรุปแล้วจึงขอตอบน้องพลับว่า  น้องพลับไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินประกันการทำงานกับลูกจ้างหนุ่มสาวโรงงานทั้งทีมงานด้านการตลาด คงทำได้แต่เพียงเรียกให้ลูกจ้างนำบุคคลมาค้ำประกันได้เท่านั้น  เว้นแต่ว่าเป็นหนุ่มสาวโรงงานลูกจ้างหรือฝ่ายการตลาดที่จะต้องทำงานเกี่ยวกับ

การเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างตามข้อ 1.2.1  จึงจะเรียกรับได้  แต่การเรียกรับเงินประกันโดยหักจากเงินเดือนหรือค่าจ้างของลูกจ้างก็ทำไม่ได้เช่นกัน  หรือหากแม้ว่าลูกจ้างจะตกลงยินยอมให้นายจ้างหักได้  และนายจ้างจะคืนให้เมื่อลูกจจ้างลาออกโดยบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎมหายแล้วก็ตาม  ก็เป็นข้อตกลงหรือนิติกรรมสัญญาที่เป็นโมฆะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  กระทำไม่ได้

แต่ถ้าหากว่าลูกจ้างหนุ่มสาวโรงงาน  รวมทั้งทีมงานด้านการตลาดที่จะต้องทำงานเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์ของนายจ้างตามข้อ 1.2.1  ได้เงินประกันมามอบให้แก่น้องพลับในการเข้าทำงานดังกล่าว  ถ้าลูกจ้างตามที่กล่าวมาทำให้เกิดความเสียหายแก่น้องพลับที่เป็นนายจ้าง  น้องพลับก็มีสิทธิที่จะนำเงินประกันนั้นมาชดใช้ค่าเสียหายได้เท่าที่ตนเองเสียหายไป

สำหรับการเก็บรักษาเงินประกันนั้น  น้องพลับจะนำไปเก็บไว้ที่ตู้เซฟของน้องพลับหรือที่บ้านน้องพลับหรือที่อื่นก็ไม่ได้  และจะนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นก็ไม่ได้เช่นกัน  น้องพลับจะต้องนำเงินประกันนั้นไปฝากไว้ธนาคารหรือสถาบันการเงิน  โดยแยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน  รวมทั้งต้องแจ้งชื่อธนาคารฯ  หรือสถาบันการเงินที่นำไปฝากไว้นั้น  รวมทั้งชื่อบัญชี  และเลขที่บัญชีให้แก่ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 7  วัน นับแต่วันที่รับเงินประกัน

หากน้องพลับไม่ทำตามที่กล่าวมาข้างต้น  ลูกจ้างไปร้องเรียนกเงินประกันคืนในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานโดยไม่มีความเสียหายแก่นายจ้างอย่างชัดเจนต่อพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่เขตที่จ้างงาน  พนักงานตรวจแรงงานก็จะรวบรวมไต่สวนข้อเท็จจริงทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง  แล้วใช้ดุลพินิจสั่งให้จ่ายหรือไม่จ่าย  ในกรณีที่สั่งให้จ่าย  นายจ้างจะต้องจ่ายตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจะภายในกี่วันก็เป็นไปตามนั้น  อาจจะเป็นภายใน  15  วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง  หากไม่จ่ายนายจ้างจะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยต้องวางเงินประกันที่เจ้าพนักงานตรวจแรงงานที่ส่งให้จ่ายต่อศาลแรงงาน และถ้าหากว่าลูกจ้างหรือเจ้าพนักงานตรวจสอบแรงงานไปแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาที่ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงานต่อพนักงานสอบสวน  นายจ้างจะต้องได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนไปให้การและรับทราบข้อกล่าวหาและโดยข้อกล่าวหานั้นโทษปรับไม่เกิน 20,000  บาท  นายจ้างจะต้องจะเสียเสียค่าปรับกับบุคลดังนี้

1. อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมมอบหมายสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

2. ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซื้อว่าราชการจังหวัดมอบหมาย  สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น


ทั้งนี้นายจ้างที่ถูกคำสั่งให้เปรียบเทียบปรับได้นำเงินตามจำนวนที่เปรียบเทียบปรับมาชำระให้บุคคลดังกล่าวข้างต้นภายใน  30  วัน  นับแต่วันที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจแรงงานก็ให้ถือว่าคดีอาญาเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎมหายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา37(1) + มาตรา39(3)แต่ถ้าหากพ้นกำหนดระยะเวลา30วันที่กล่าวมานั้นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามพนักงานสอบสวนก็จะทำการส่งให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องให้ศาลพิจารณาลงโทษปรับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541มาตรา139(3) และมาตรา146และจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา24 + มาตรา29 +มาตรา30และเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

สรุปแล้วทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.2541มาตรา6 + มาตรา10 + มาตรา139(3) + มาตรา146และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้างประกาศ ณ วนที่19สิงหาคม พ.ศ.2541โดยนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

 

 

 

NEED SOME BUSINESS SUGESSION?

WE CAN HELP YOU

เราภูมิใจเป็นอย่างมากหากท่านสามารถใช้ประโยชน์ หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้เพื่อนนักธุรกิจ นักบัญชี ภาษี และอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่...อย่างไรก็ตาม สำหรับการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดาที่ปรึกษาในการแวะเวียนมาบรรเลงใน msgconsultant.com ประกอบด้วย

We are very proud if you can take advantage or forward the information to the business tax accountants and others to apply and to take full advantage of them. However, knowledge that has been in favor of those that came into play.

Related Site :

บริษัท เอ็มเอสจี คอนซัลแทนท์ จำกัด

149, 151 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160
โทร. 02-803-6820, 02-803-6821, 02-803-6822
แฟกซ์ 02-903-0080 ต่อ 6823
Email : info@msgconsultant.com