หน้านาย…นายหน้า

 

                ถามคำหนึ่ง...ใครจะเป็นคนตอบ มีใครบ้างไหมวานบอก ตอบจริงไม่ใช่แกล้งตอบ ตอบตรงให้เหมือนดังใจ...อะไรคือคำถาม...ถามไม่ยาก...ไม่อยากให้ใครลำบาก ไม่โกงไม่เท็จ อย่าเดาจงตั้งใจฟัง...เป็นบทเพลงที่พอจะเดาได้ว่า...พี่แจ้เป็นคนที่โชคดีจริง เจอแต่ปัญหาที่ไม่ยาก เลยทำให้คำถามที่ไม่ยาก ใคร ๆ ก็ต่างอาสาพากันยกมือตอบ

 

                ไม่เหมือนหลี่น้อย ที่ไม่รู้ว่าทำบุญมาด้วยอะไร เจอคำถามแต่ละที มีแต่หนัก และมีแต่เหนื่อย ต้องทั้งค้น และทั้งคิด ยิ่งช่วงหลัง ๆ นายภาษีแกปล่อยมือทั้งที่ไม่ได้ขับจักรยาน ให้หลี่น้อยค้นคว้าหาคำตอบอยู่คนเดียว...ตอบถูกก็ดี แต่หากตอบผิด...ยิ่งคิดก็ยิ่งเสียว ไม่รู้จะโดนสองเท่า...เหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ หรืออาจจะต้องจ่ายค่าความเสียหายของคำปรึกษา 1.5 % ต่อเดือนหรือไม่...ไหนใครว่ากฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 15 % ต่อปี...ยกมือขึ้น

 

                คิดและบ่นน้อยใจในโชคชะตาตัวเองได้ไม่นาน...คำถามจากฟากฟ้าก็หล่นปุ๊มาอยู่ตรงหน้า พร้อมกับจดหมายน้อยที่เขียนด้วยลายมือยึกยือ...อ่านแทบไม่รู้เรื่องว่า...Quick Ans...ภายใน 24 ชั่วโมง...ทำเอาหนังตาที่กำลังจะปิดต้องเบิกโพลง รีบเร่งค้นหาคำตอบเพื่อมาสนองพระเดชพระคุณ ท่านให้ทันกำหนด...ส่วนใครเป็นใคร ถามอะไร ไปดูกัน

 

                นัดมา : ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการจ่ายเงินเดือน และเงินโบนัสให้แก่พนักงาน ซึ่งนัดมาในฐานะผู้ทำหน้าที่คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้แอบสอบถามแนวทางในการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายโบนัสให้พนักงานในเดือนมกราคม  2551  จะต้องหักภาษีหัก  ณ  ที่จ่ายจะหัก  ณ  เดือนไหน?  หักพนักงานคนใดบ้าง?  หักอัตราเท่าไหร่  กี่เปอร์เซ็นต์?  ต้องออกหนังสือรับรองการหัก  ณ  ที่จ่ายด้วยหรือไม่?  ซึ่งก็ได้รับคำตอบไปเรียบร้อย จนเงินตุงอยู่ในกระเป๋าของนัดมา และผองเพื่อนไปแล้ว มาคราวนี้ใกล้กำหนดที่จะต้องจ่ายค่านายหน้าให้กับผู้ที่แนะนำลูกค้าให้กับบริษัทฯ เลยมีปัญหาคับอก คับใจมาถามต่อว่า

 

บริษัทมีการจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่น  จากการขายสินค้าให้กับผู้ขาย (ที่ไม่ใช่พนักงาน)  จะต้องทำการหัก  ณ  ที่จ่ายอย่างไร?  (เหมือนกรณีพนักงานหรือไม่)  และต้องยื่นแบบหักภาษี  ณ  ที่จ่ายแบบใด

 

                หลี่น้อย : เจียดเงินโบนัสมาจ่ายเป็นค่าที่ปรึกษาของหลี่น้อยหน่อยก็ดีนะ เพราะช่วงนี้น้ำมันมันแพงเหลือใจ ทำให้หลี่น้อยเดินทางมาไม่ค่อยจะถึงออฟฟิศ เดี๋ยวจะพาน...มิได้มาเกิด เอ๊ยไม่ได้มานั่งตอบคำถามกันในอนาคต ส่วนเลขบัญชีจะแอบเมล์ไปให้ภายหลัง

 

เอาเป็นว่ามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าค่านายหน้า เป็นเงินได้ประเภทใด เพื่อที่จะได้หักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างถูกต้อง และสง่างาม (เพราะหากหักผิด ต้องไปยืนกุมเป้า...ให้การต่อคุณสรรพ์ ทำให้เสียความสง่างามไป) ขอตอบว่า

 

·        ค่านายหน้า หรือค่าคอมมิชชั่น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)

·        หากผู้รับค่านายหน้าเป็น บุคคลธรรมดา, คณะบุคคล, ห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย อัตราก้าวหน้า (เหมือนจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน)

·        หากผู้รับค่านายหน้าเป็น นิติบุคคล ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส หรือคำสั่งกรมสรรพกรที่ ท.ป. 4/2528  โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3 %

 

จากข้อมูลที่ได้รับสรุปได้ว่า จ่ายให้กับผู้ขายที่ไม่ใช่พนักงาน คงต้องตีความเข้าข้างตัวเองว่าเป็นการจ่ายให้บุคคลธรรมดา จึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

-          การจ่ายเงินได้ครั้งที่ 1 นำเงินได้ที่จ่ายครั้งที่ 1 คำนวณหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีเงินได้

-          การจ่ายเงินได้ครั้งที่ 2 นำเงินได้ที่จ่ายครั้งที่ 1 และ 2 รวมกัน คำนวณหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีเงินได้...จากนั้นให้นำภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ครั้งที่ 1 มาหักออก (หากมี) จะได้ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินครั้งที่ 2

-          การจ่ายเงินได้ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ดำเนินการเหมือนข้างต้น

 

หากพิจารณาจะเห็นได้ว่า การหักภาษี ณ ที่จ่ายกรณีค่านายหน้าให้กับบุคคลธรรมดา จะไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3 % เหมือนที่เข้าใจกัน ซึ่งยืนยันให้เห็นได้ชัดเจนอีกครั้งด้วย

 

“มาตรา 50 ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวิธีดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
                ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายตามความในวรรคก่อนไม่ลงตัว เหลือเศษเท่าใดให้เพิ่มเงินเท่าจำนวนที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี

 

                เมื่อมีการอ้างอิงว่า ค่านายหน้าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ก็ต้องไปค้นหาต่อว่าจริงหรือไม่ด้วย

 

มาตรา 40 เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
                (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

 

สรุปว่า...หักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่านายหน้า โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า แต่ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการหลายรายจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา  3%  เนื่องจากไม่เข้าใจ หรือหักไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยจะได้ไม่ต้องเป็นข้อโต้แย้ง หรือต้องไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ท่านสามารถนำไปพิจารณาตัดสินใจได้ หากท่านตัดสินใจที่จะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า เวลาที่ทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องออกหนังสือรับรองฯ  ทุกครั้งที่จ่าย  พร้อมยื่นแบบ  ภ.ง.ด.1  ภายในวันที่  7  ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงิน

 

นัดมา : ถามต่อไปว่า บริษัทอยู่ในระหว่างปิดงบการเงิน สิ้นสุด  30  พ.ย. ปีนี้ โดยจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับผู้ขาย (ตามคำถามแรก)  แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ  จะต้องดำเนินการอย่างไร  เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท  ในปี  2550 และเป็นรายได้ของผู้แนะนำในปี  2550

 

หลี่น้อย : ประสานประโยชน์จริง ๆ แม่คุณ จะให้เป็นทั้งรายได้ของผู้รับ และรายจ่ายของผู้ให้ ห่วงกันไปหมดไม่รู้คนรับเป็นใคร เอาเป็นว่าเมื่ออยากได้...จัดให้ แต่เนื่องจากนิติบุคคล...รับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ ขณะที่บุคคลธรรมดา...รับรู้รายได้ตามเกณฑ์เงินสด ทำให้จังหวะในการคำนวณภาษีแตกต่างกัน แต่หากนัดมายืนยันหนักแน่นว่าต้องการให้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท และเป็นเงินได้ของผู้รับ ในปีนี้  จะต้องดำเนินการดังนี้

 

-          บันทึก ค่านายหน้า เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทในปีนี้

-          ทำการจ่ายชำระค่านายหน้า โดยให้ผู้รับเงินออกหลักฐานการรับเงิน เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือใบรับเงิน ในปีนี้ให้ครบถ้วน

-          ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายตอนที่จ่ายเงิน และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายภายในวันที่ 7 เดือนธันวาคม

 

ชอบมะ ชอบมั้ย...เรียกว่าได้ครบถ้วนตามประสงค์ หากแต่ในตอนนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย นัดมา จะต้องชำระเงินเพิ่ม จากข้อหานำส่งภาษีขาดไป..เท่านั้นเอง เพราะวันนี้ เวลานี้ มันปาเข้าไปเดือนมีนาคมแล้ว

ตบท้ายให้คิดว่า...หากนัดมารู้แน่ และมีหลักฐานประกอบที่ชัดเจนว่า ค่านายหน้าที่ต้องจ่ายเป็นเท่าไหร่ ให้ทำการบันทึกเป็น ค่านายหน้า และค่านายหน้าค้างจ่าย ในงบการเงิน เพื่อให้สามารถนำมาหักเป็น ค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ...ในปีนี้เลย ส่วนการจ่ายเงินเมื่อมีการจ่ายเงินในเดือนมีนาคมปีถัดไป ผู้รับเงินค่อยนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีที่ได้รับเงิน แยกต่างหากจากกันจะเหมาะสมกว่า โดยการบันทึกบัญชีจะเป็นดังนี้

 

บันทึกค่านายหน้าเป็นค่าใช้จ่าย...ปีนี้

Dr.  ค่านายหน้า                                                                      XX

                Cr.  ค่านายหน้าค้างจ่าย                                                          XX

 

                บันทึกจ่ายชำระค่านายหน้า...ปีหน้า

                Dr.  ค่านายหน้าค้างจ่าย                                                          XX

                                Cr.  เงินสด / เงินฝากธนาคาร                                 XX

 

นัดมา : เมื่ออยากให้แยกรับรู้ก็ขอตามใจที่ปรึกษาบ้าง เดี๋ยวจะหาว่าลูกค้าเอาแต่ใจ แต่เมื่อตามใจแล้วก็ต้องมีของแถมให้ ของแถมที่ว่าก็ขอถามเพิ่มเติมจากที่เคยหารือในครั้งก่อนว่า  เงินโบนัส  สรรพากรยอมรับเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้หรือไม่

 

                หลี่น้อย : ยอมแพ้ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นคนที่ความจำแม่นยำ แต่พออ้างถึงข้อหารือครั้งก่อน...เป็นอันสลบ เพราะคุณเธอถามเยอะ และถามบ่อยเหลือเกิน แต่ขอตอบเป็นว่า

 

·        หากโบนัสของปีก่อน...ได้ถูกบันทึกเป็น ค่าใช้จ่ายของปีก่อน แม้จะจ่ายเงินในปีก่อน หรือปีไหน...ถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้

·        หากโบนัสของปีก่อน...ไม่ได้ถูกบันทึกเป็น ค่าใช้จ่ายของปีก่อน เมื่อมีการจ่ายเงินปีนี้...ถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ (เฉพาะทางบัญชี) ส่วนในการคำนวณภาษี...ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่าย...

 

แตกต่างแต่ไม่แตกแยก เพราะนิติบุคคลต้องรับรู้รายได้และรายจ่ายตามเกณฑ์สิทธิ เมื่อโบนัสเป็นผลตอบแทนจากการทำงานปีก่อน ก็ต้องตั้งเป็นค่าใช้จ่ายของปีก่อน ส่วนจะจ่ายเงินกันปีไหน ไม่สำคัญ ภารกิจของนัดมา คือต้องรีบสรุปให้ได้ว่า โบนัสปีที่แล้วจะเป็นเท่าไหร่ เพื่อทำการบันทึกในบัญชีให้ครบถ้วน ส่วนจะจ่ายเดือนนี้ หรือเดือนหน้า หรือเดือนไหน...ตามสบาย...แต่ได้แล้ว...อย่าลืมกันเด้อ

 

ด้วยรัก

หลี่น้อย

 

 

NEED SOME BUSINESS SUGESSION?

WE CAN HELP YOU

เราภูมิใจเป็นอย่างมากหากท่านสามารถใช้ประโยชน์ หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้เพื่อนนักธุรกิจ นักบัญชี ภาษี และอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่...อย่างไรก็ตาม สำหรับการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดาที่ปรึกษาในการแวะเวียนมาบรรเลงใน msgconsultant.com ประกอบด้วย

We are very proud if you can take advantage or forward the information to the business tax accountants and others to apply and to take full advantage of them. However, knowledge that has been in favor of those that came into play.

Related Site :

บริษัท เอ็มเอสจี คอนซัลแทนท์ จำกัด

149, 151 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160
โทร. 02-803-6820, 02-803-6821, 02-803-6822
แฟกซ์ 02-903-0080 ต่อ 6823
Email : info@msgconsultant.com